สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางอาญาตามมาตรฐานสากล ประกอบกับก่อให้เกิดปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์ อาทิ รูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง ดังนั้น ควรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้มีกระบวนการที่รัดกุมและมีความโปร่งใส โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีความอิสระโปร่งใสและมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเป็นผู้พิจารณาขั้นต้นเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขังและให้ศาลที่คดีถึงที่สุดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งในการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขังในแต่ละคราวไป และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขึ้นใหม่ในการพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะคดีทุจริต คดีอาญา คดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่น ๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง เพื่อกำหนดมาตรการและเพิ่มระยะเวลาปลอดภัยให้แก่สังคม ทั้งเป็นไปตามหลักการในทางสากล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

            แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้

            1. เพิ่มบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการอิสระ” และ “กรรมการอิสระ” (เพิ่มเติมบทนิยามมาตรา 4)

            2. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการราชทัณฑ์ และเพิ่มหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเพื่อแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 เพิ่มมาตรา 8/1 มาตรา 8/2 มาตรา 8/3 และมาตรา 8/4 และยกเลิกมาตรา 11 (4) วรรคหนึ่ง วรรคสอง)

            3. เพิ่มเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มา หน้าที่และอำนาจ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง (เพิ่มหมวด 1/1 คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง และเพิ่มมาตรา 16/1 มาตรา 16/2 มาตรา 16/3 และมาตรา 16/4)

            4. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาประโยชน์ผู้ต้องขังในกรณีการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษ โดยกำหนดให้คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขังตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 52 (5) (6) (7) วรรคสอง เพิ่มวรรคสาม และยกเลิกมาตรา 53)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  กระทรวงยุติธรรม
  2.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  3.  กระทรวงมหาดไทย
  4.  กระทรวงแรงงาน
  5.  กระทรวงศึกษาธิการ
  6.  กระทรวงสาธารณสุข
  7.  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  8.  สำนักงานศาลยุติธรรม
  9.  สำนักงานอัยการสูงสุด
  10.  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  11.  สภาทนายความ
  12.  กรมราชทัณฑ์
  13.  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  14.  สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
  15.  ศาลฎีกา
  16.  ศาลปกครองสูงสุด
  17.  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  18.  ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  19.  บุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านนิติศาสตร์ ด้านศาสนา ศิลปะ หรือวัฒนธรรม ด้านอาชญาวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านจิตวิทยา และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการราชทัณฑ์
  20.  องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน
  21.  ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการอิสระ” และ “กรรมการอิสระ” โดยให้หมายความถึง คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง (ร่างมาตรา 3)
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการราชทัณฑ์ขึ้นใหม่โดยเพิ่มนายกสภาทนายความเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการราชทัณฑ์ มาจากการสรรหาและแต่งตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ (ร่างมาตรา 5 ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา 7)
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง โดยมีองค์ประกอบและที่มาจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนหนึ่งคน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนหนึ่งคน บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆในผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ องค์กรละหนึ่งคน ประธานกรรมการอัยการ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน  และผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ด้านอาชญาวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านจิตวิทยา ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง ซึ่งมาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยความเห็นชอบจากวุฒิสภา จำนวนสามคน  และกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวม ตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาด ยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาด และประสานการดำเนินการกับกรมราชทัณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดเพื่อประกอบการพิจารณา (ร่างมาตรา 8)
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง โดยจะจะพึงกระทำได้ต่อเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในกรณีต้องโทษจำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายในความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าตามกฎหมายกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด คดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ความผิดเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีต้องโทษจำคุกในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา รวมทั้งกำหนดให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รวบรวบข้อเท็จจริงแล้วส่งให้คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขังเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง (ร่างมาตรา 9 ร่างมาตรา 10 ร่างมาตรา 11 และร่างมาตรา 12)
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 13)
  6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)