โดยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรและให้รัฐพึงส่งเสริม
และสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาและพระภิกษุสามเณรไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย สมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนจะดำเนินการเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามเพื่ออธิบายความหมายของถ้อยคำที่ใช้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนามีสิทธิรวมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่จะรวมตัวกันดำเนินการต้องไม่มีวัตถุประสงค์ขัดแย้งต่อหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา ไม่ถูกครอบงำ โดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง (ร่างมาตรา 5)
4. กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่ประสงค์จะเข้าร่วมจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาให้แจ้งสถานะความเป็นองค์กรส่งเสริมกิจการ
พระพุทธศาสนาไว้ต่อนายทะเบียน (ร่างมาตรา 6)
5. กำหนดให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลาง มีหน้าที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
ได้ทั่วราชอาณาจักร และมีหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด และมีหน้าที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาภายในจังหวัดนั้น (ร่างมาตรา 7)
6. กำหนดให้บุคคลที่เห็นว่าองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่ได้แจ้งไว้ มีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรา 5 มีสิทธิยื่นคำคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลางได้ และเมื่อนายทะเบียนกลางได้รับคำคัดค้านให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยโดยเร็ว หากเห็นว่าองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรา 5 ให้เพิกถอนการรับแจ้งพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องและองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องทราบ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนกลางให้เป็นที่สุด (ร่างมาตรา 8)
7. กำหนดให้องค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาไม่น้อยกว่าห้าสิบองค์กรมีสิทธิเข้าชื่อกันแจ้งต่อนายทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา (ร่างมาตรา 9)
8. กำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและดำเนินการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือการครอบงำหรือการสั่งการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง (ร่างมาตรา 10)
9. กำหนดให้เมื่อจัดตั้งสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาแล้ว ให้คณะผู้เริ่มก่อการจัดทำร่างข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและเรียกประชุมสมาชิกภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินกิจกรรมจัดทำข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาเลือกตั้งประธานและคณะกรรมการนโยบายของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา กำหนดนโยบาย แนวทางหรือแผนงาน เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและกิจการอื่นที่คณะผู้เริ่มก่อการเห็นสมควร (ร่างมาตรา 11)
10. กำหนดให้การจัดทำข้อบังคับสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาต้องมีเรื่องที่ระบุไว้ในมาตรานี้เป็นอย่างน้อย (ร่างมาตรา 12)
11. กำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่าง ๆตามมาตรานี้ นอกจากที่ได้กำหนดไว้ให้มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ (ร่างมาตรา 13)
12. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในการจัดให้มีการประชุมสมาชิก เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันจะยังประโยชน์แก่การส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา (ร่างมาตรา 14)
13. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปีเป็นการจ่ายขาดให้แก่สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
(ร่างมาตรา 15)
14. กำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ตามระยะเวลาที่สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนากำหนด แต่ต้องไม่เกินสามปี (ร่างมาตรา 16)
15. กำหนดให้สภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน (ร่างมาตรา 17)
16. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 18)