สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังพบว่าในหลายกรณี ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นระหว่างรัฐกับเอกชนหรือเอกชนกับเอกชนที่ไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกันขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งโอกาสในการการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จนเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในทางกฎหมาย ดังนั้น เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีมาตรการที่เป็นธรรมในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ข้อมูลประกอบการพิจารณา

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อให้มีมาตรการที่เป็นธรรมในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม  ซึ่งร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ. มีสาระสำคัญดังนี้

1. ให้นำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจากภยันตรายที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษ อันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่ม หรือดำเนินการโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ระเบียบ และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 3 และมาตรา 4)

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหาย ให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากโครงการที่ขอรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเงื่อนไขในการอนุญาตโครงการ หรือกิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 ด้วย (ร่างมาตรา 5)

3. โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นโครงการที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย หรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชนอย่างรุนแรงนั้น ต้องมีการจัดทำประกันภัยความรับผิดในความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดด้วย (ร่างมาตรา 6)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  4. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจากภยันตรายที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษ อันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่ม หรือดำเนินการโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหาย ให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากโครงการที่ขอรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชนอย่างรุนแรง ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจะต้องมีการจัดทำประกันภัยความรับผิดในความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้นด้วย