ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายใหม่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๓ (๓) ซึ่งกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติได้ตามหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยเมื่อพิจารณาแล้วย่อมเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติซึ่งเสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งฉบับนี้มีสาระสำคัญอันเป็นการเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และเป็นการเสนอร่างกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๖ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีกฎหมายเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๑๘ ซึ่งกำหนดหลักการอันเป็นไปตามหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ โดยให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๖ และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่
การเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกฎหมายกลาง และเป็นกฎหมายที่วางมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยมีหลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งมีความมุ่งหมาย คือ
๑. เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะปลอดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างหลากหลายในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ การติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ การทำงาน การศึกษาอบรม ศาสนาหรือความเชื่อ หรือความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมือง
๒. เพื่อกำหนดให้รัฐมีบทบาทหน้าที่ในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ไม่ว่าได้กระทำโดยหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการประกอบอาชีพ การเข้าถึงสินค้าและบริการ การเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคมประการต่าง ๆ
๓. เพื่อส่งเสริมและป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ตลอดจนคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ และป้องกันไม่ให้การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นซ้ำสอง
โดยมีเหตุผลอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล อีกทั้งได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งให้การเลือกปฏิบัติโดย
ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล จะกระทำมิได้ กล่าวได้ว่า หลักการไม่เลือกปฏิบัตินั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน แต่ปัจจุบันยังคงปรากฏว่า บุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย
ในสังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ การเข้าถึงสินค้าและบริการ การเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคมประการต่าง ๆ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและกลไกในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในภาพรวม ซึ่งรวมทั้งการไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นการเฉพาะ การขาดกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ตลอดจนการไม่มีกลไกในการคุ้มครองและช่วยเหลือเยียวยาบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติและป้องกันไม่ให้การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นซ้ำสอง สมควรให้มีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและกลไกในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะปลอดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับมาตรา ๔ และ
มาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เอกสารประกอบ
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม
3. อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
4. ตำแหน่งอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล
(1) ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(2) ปลัดกระทรวงแรงงาน
(3) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
(4) นายกสภาทนายความ
(5) ผู้แทนซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
(6) ผู้แทนซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
(7) ผู้แทนซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ระหว่างเพศ
5. องค์กรภาคเอกชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. บุคคลที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้ถูกเลือกปฏิบัติ อาทิ คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ผู้หญิง บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น
7. ประชาชนทั่วไป
1. ท่านเห็นด้วยกับการให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลตามร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่รองรับไว้หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับการหลักการทั่วไปซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ส่งเสริมและป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล รวมถึงคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ และป้องกันไม่ให้การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นซ้ำสอง หรือไม่ อย่างไร
3. ท่านเห็นด้วยกับการหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในกรณีต่าง ๆ ตาม
ร่างมาตรา 7 หรือไม่ อย่างไร
4. ท่านเห็นด้วยกับกระบวนการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลตามที่กำหนดในร่างมาตรา 10 - ร่างมาตรา 20 หรือไม่ อย่างไร
5. ท่านเห็นด้วยกับกระบวนการฟ้องคดีตามตามที่กำหนดในร่างมาตรา 21 - ร่างมาตรา 24 หรือไม่ อย่างไร
6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” ซึ่งมีหน้าที่ด้านนโยบาย โดยมีการกำหนดองค์ประกอบ รวมถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ และวิธีการประชุม หรือไม่ อย่างไร
7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก คุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้ามวาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือไม่ อย่างไร
8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ” ซึ่งมีหน้าที่ในทางปฏิบัติ โดยกำหนดวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง คุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้าม อำนาจหน้าที่ และวิธีการประชุม หรือไม่ อย่างไร
9. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “สภาส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” โดยมีการกำหนดวิธีการคัดเลือก อำนาจหน้าที่ และวิธีการดำเนินงาน หรือไม่ อย่างไร
10. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “สำนักงานคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล หรือไม่ อย่างไร
11. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และการกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน หรือไม่ อย่างไร
12. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดโทษซึ่งเป็นมาตรการบังคับทางปกครองตามร่างมาตรา 55 หรือไม่ อย่างไร
13. ท่านเห็นว่าการกำหนดโทษทางอาญาตามร่างมาตรา 56 - ร่างมาตรา 60 มีความเหมาะสมและสอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๗ ซึ่งบัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาในกฎหมายเฉพาะความผิดที่ร้ายแรง หรือไม่ อย่างไร
14. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ
มีอำนาจดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับ รวมถึงการกำหนดให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการตามร่างมาตรา 60 หรือไม่ อย่างไร
15. ท่านมีความเห็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร