โดยที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นหน่วยงานของรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชน ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่รัฐพึงช่วยเหลือทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ปลอดดอกเบี้ยและลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้รัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ปลอดดอกเบี้ยหรือรับทุนการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้กู้ยืมเงินให้มีการศึกษาที่ดีมีแรงจูงใจในการศึกษาและลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 54 (วรรคสาม วรรคห้า และวรรคหก) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
1. กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ทุนการศึกษา และการแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร่างมาตรา 4 และมาตรา 5)
2. ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน
ตามสัญญากู้ยืมเงิน (ร่างมาตรา 6)
3. กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินผ่อนชำระเงินต้นกู้ยืมภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษา มีรายได้เพียงพอแล้วภายในระยะเวลา 30 ปี หรืออาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนหรือมอบทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดแทนการชำระเงินกู้ยืมก็ได้ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 7)
4. กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษา ในระดับเกียรตินิยม สามารถแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษา โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร่างมาตรา 8)
5. กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การกำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมด เป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระคืน (ร่างมาตรา 9)
6. ให้ยกเลิกความของ มาตรา 45 ที่ให้อำนาจกองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการเงิน และดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ของผู้กู้ยืม (มาตรา 10)
7. ให้ยกเลิกความของ มาตรา 46 ที่ให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ครอบครองข้อมูลผู้กู้ส่งให้กองทุน (มาตรา 11)
8. ให้ยกเลิกความของ มาตรา 50 ที่ให้กองทุนมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของผู้กู้ยืมในลำดับแรกถัดจากค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันตาม มาตรา 253 (4) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 12)
9. ให้ยกเลิกความของ มาตรา 51 ให้นายจ้างหักเงินพนักงานหรือลูกจ้างเพื่อชำระเงินกู้ยืมตามจำนวนที่กองทุนแจ้ง (มาตรา 13)
10. กำหนดให้ภาระของผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้งคับเป็นอันสิ้นสุดไป นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ (ร่างมาตรา 14)