สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง การกระทำอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ  การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและแบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถบริหารงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขในเรื่องดังต่อไปนี้

         1. บทบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อบังคับพรรคการเมือง ให้ตัดเรื่องตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดออกไป ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรคแบบตลอดชีพในอัตราไม่น้อยกว่า 2,000 บาทออกไปและค่าบำรุงพรรคแบบรายปีในอัตราไม่น้อยกว่า 100 บาท เป็นการเก็บค่าบำรุงพรรคที่กำหนดให้จ่ายครั้งเดียวในอัตราไม่น้อยกว่า 50 บาทแทน ยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามพรรคการเมืองต้องไปกำหนดข้อบังคับในลักษณะที่ให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามามีการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ พรรคการเมือง หรือกระทำให้พรรคขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

         การตัดอำนาจของสมาชิกพรรคในการมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณาข้อบังคับพรรคที่เกี่ยวกับ รายได้ของพรร อัตราค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรค

         2. ยกเลิกบทบัญญัติการขาดจากความเป็นสมาชิกพรรคเพราะเหตุไม่ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน

         3. ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการที่พรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกของพรรคเข้ามากระทำการในลักษณะควบคุม ครอบงำ ชี้นำพรรค และบทบัญญัติที่ห้ามบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการในลักษณะดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

         4. ตัดเรื่องตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดที่ไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง รวมถึงบทบาท หน้าที่และอำนาจ และความรับผิดของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 84 มาตรา 104 มาตรา 112 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

         5. กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีสาขาพรรคการเมืองในภาคนั้น ๆ อย่างน้อยหนึ่งสาขา ถึงจะมีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งของภาคนั้น ๆ แทนการจะต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น

         6. ให้คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้พิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคให้ความเห็นชอบและรายชื่อบุคคลอื่นที่เห็นสมควรตามลำดับต่อคณะกรรมการบริหารพรรค  หรืออาจให้ที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองลงมติเลือก
ผู้สมควรส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ

          ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อนั้นได้ตัดเรื่องการคำนึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิงออกไป    และยกเลิกกระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการและรูปแบบเดิมที่บัญญัติในมาตรา 50 ถึงมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

         7. ยกเลิกเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมือง เพราะเหตุที่พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

         8. ยกเลิกบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืน มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 77 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. พรรคการเมือง  ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิกพรรคการเมือง
  2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง
  3. ศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1.  สมควรยกเลิกเรื่องตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดที่ไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง และแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เช่น บทบัญญัติว่าด้วยข้อบังคับพรรคการเมืองรวมถึงบทบาท หน้าที่และอำนาจ และความรับผิด ของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดหรือไม่ (ร่างฯ มาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 15 มาตรา 16)
  2. สมควรให้มีการเก็บค่าบำรุงพรรคโดยจ่ายครั้งเดียวในอัตราไม่น้อยกว่า 50 บาทแทนการเก็บค่าบำรุงพรรคแบบตลอดชีพในอัตราไม่น้อยกว่า 2,000 บาทหรือการเก็บค่าบำรุงพรรคแบบรายปีในอัตราไม่น้อยกว่า 100 บาท ไว้ในบทบัญญัติว่าด้วยข้อบังคับพรรคการเมืองหรือไม่ (ร่างฯ มาตรา 3)
  3. สมควรยกเลิกบทบัญญัติที่ตัดการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคในการพิจารณาข้อบังคับพรรคที่เกี่ยวกับ รายได้ของพรรค อัตราค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรค (ร่างมาตรา 3)
  4. สมควรยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามพรรคการเมืองมีข้อบังคับพรรค หรือยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามามีการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ พรรคการเมือง หรือกระทำให้พรรคขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และยกเลิกไม่ให้เป็นเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อยุบพรรคการเมืองหรือไม่ (ร่างฯ มาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 14)
  5. สมควรยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคกระทำการในลักษณะการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ พรรคการเมือง หรือกระทำให้พรรคขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่ (ร่างมาตรา 5)
  6. สมควรยกเลิกบทบัญญัติการขาดจากความเป็นสมาชิกพรรคเพราะเหตุไม่ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน (ร่างฯ มาตรา 4)
  7. สมควรกำหนดให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งใด ๆ ในภาคใดจะต้องมีสาขาพรรคการเมืองในภาคนั้น ๆ อย่างน้อยหนึ่งสาขา แทนการต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น หรือไม่(ร่างมาตรา 9)
  8. สมควรกำหนดให้การพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรืออาจให้ที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองลงมติเลือกผู้สมควรส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อแทนรูปแบบและวิธ๊การเดิม หรือไม่ (ร่างมาตรา 9 มาตรา 10)
  9. สมควรตัดเรื่องการคำนึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิงออกไปในการส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หรือไม่ (ร่างมาตรา 9)
  10. สมควรยกเลิกบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืน มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 77 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ (ร่างมาตรา 17)