สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้กองทุนสามารถรับโอนเงินของสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือชราภาพได้ กำหนดให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินเดือน เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่สมาชิกในการเบิกเงินจากกองทุนเพื่อใช้ในการจัดหาที่อยู่อาศัยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวที่บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคล และในกรณีที่สมาชิกไม่ได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุน ให้ถือว่าสมาชิกยินยอมให้กองทุนนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก นอกจากนี้ ในกรณีที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงและยังไม่ได้รับเงินที่ตนมีสิทธิได้รับคืนหรือขอทยอยรับเงินคืน สมาชิกมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนที่กองทุนจัดให้เพื่อให้กองทุนบริหารเงินนั้นต่อไปได้ สำหรับกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตายและผู้มีสิทธิรับมรดกของสมาชิกยังไม่ยื่นคำขอรับเงินให้กองทุนมีสิทธิบริหารเงินนั้นต่อไปได้ตามแผนการลงทุนที่สมาชิกผู้นั้นได้เลือกไว้ก่อนวันที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

         แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ดังต่อไปนี้

         (1) เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของกองทุนในการรับโอนเงินของสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกัน
ในกรณีการออกจากงานหรือชราภาพได้ (เพิ่มมาตรา 38/2)

         (2) แก้เพิ่มเติมอัตราการส่งเงินสะสมของสมาชิก โดยให้ส่งได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินเดือน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39 วรรคสอง)

         (3) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอนุญาตให้สมาชิกสามารถขอรับเงินจากกองทุนไม่เกินอัตราร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวที่บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคลเพื่อใช้จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ในการจัดหาที่อยู่อาศัยของตนได้ (เพิ่มมาตรา 43/1)

         (4) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การบริหารเงินของสมาชิกผู้ถึงแก่ความตายในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับมรดกยังไม่ยื่นคำขอรับเงินที่สมาชิกมีสิทธิได้รับ (เพิ่มมาตรา 59 วรรคสอง)

         (5) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารเงินของสมาชิกซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 67/1)

         (6) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินของกองทุนในบัญชีเงินสำรองและในบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกแต่ละคน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70)

         (7) แก้ไขเพิ่มเติมอัตราการส่งเงินสะสมของสมาชิกตามมาตรา 70/6 โดยให้ส่งได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินเดือน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70/8)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
  2. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  3. สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. กองทุนการออมแห่งชาติ
  5. สำนักงานประกันสังคม
  6. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  7. ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  8. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. สมควรเพิ่มบทบัญญัติให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสามารถรับโอนเงินของสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือชราภาพได้ หรือไม่ (เพิ่มมาตรา 38/2)
  2. สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราการส่งเงินสะสมของสมาชิก โดยให้ส่งได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน หรือไม่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39 วรรคสอง)
  3. สมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอนุญาตให้สมาชิกสามารถขอรับเงินจากกองทุนไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวที่บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคลเพื่อใช้จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ในการจัดหาที่อยู่อาศัยของตน หรือไม่ (เพิ่มมาตรา 43/1)
  4. สมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การบริหารเงินของสมาชิกผู้ถึงแก่ความตายในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับมรดกยังไม่ยื่นคำขอรับเงินที่สมาชิกมีสิทธิได้รับ หรือไม่ (เพิ่มมาตรา 59 วรรคสอง)
  5. สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารเงินของสมาชิก ซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพ ในกรณีดังต่อไปนี้ หรือไม่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 67/1)
    5.1 กรณีที่สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและยังไม่ขอรับเงินคืน หรือขอทยอยรับเงินคืน สมาชิกมีสิทธิเลือกแผนการลงทุน เพื่อให้ กบข. บริหารเงินนั้นต่อไปได้
    5.2 กรณีที่ กบข. บริหารเงินของสมาชิกต่อไป และต่อมาสมาชิกผู้นั้นถึงแก่ความตาย และผู้มีสิทธิรับมรดกยังไม่ยื่นคำขอรับเงิน ให้ กบข. บริหารเงินนั้นต่อไปได้ตามแผนการลงทุนที่สมาชิกได้เลือกไว้ จนกว่าผู้มีสิทธิรับมรดกจะยื่นคำขอรับเงิน
  6.  สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินของกองทุนในบัญชีเงินสำรองและในบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิก ในกรณีดังต่อไปนี้ หรือไม่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70)
    6.1 บัญชีเงินสำรองให้ลงทุนได้ในหลักทรัพย์ 4 ประเภท คือ
    (1) เงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก
    (2) พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
    (3) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย         (4) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเป็นผู้ออก
    6.2 บัญชีเงินรายบุคคลให้กองทุนจัดให้มีแผนการลงทุน โดยให้สมาชิกมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนได้ ซึ่งแต่ละแผนอาจลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแตกต่างกันได้
  7. สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราการส่งเงินสะสมของสมาชิกตามมาตรา 70/6 โดยให้ส่งได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน หรือไม่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70/8)
  8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)