สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายใหม่โดยมีหลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และมีเหตุผลเพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 70 ซึ่งกำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ประกอบกับเพื่อให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยได้มีการให้สัตยาบันและมีการภาคยานุวัติต่อพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์หลายฉบับ เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination : CERD) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights : ICESCR) และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples : UNDRIP) เป็นต้น ซึ่งจากการที่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง จึงส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการขาดสิทธิทางวัฒนธรรม ขาดสิทธิทางทรัพยากร และอคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น รัฐจึงพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์โดยการให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการเสนอกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์ คือ

1. เพื่อให้ภาครัฐมีบทบาทและอำนาจตามกฎหมายอย่างถูกต้องสอดคล้องกับสภาพสังคม วัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

2. เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามตลอดจนการดูแลและสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติในท้องถิ่นของตนได้อย่างยั่งยืนถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ถูกดูถูก เหยียดหยามหรือการกีดกันจากกลุ่มบุคคลภายนอกที่มีความแตกต่าง
ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

3. เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับทั้งบริบทความเป็นจริงของสังคมไทยซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม โดยการมีลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นจำนวนหลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีวิถีชีวิต ภาษา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาอย่างช้านาน รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศตามที่กล่าวมาข้างต้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

                การเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญสรุปได้ คือ

                1. การกำหนดผู้รักษาการตามกฎหมาย

                    - กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น (ร่างมาตรา 5)

                2. การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ (หมวด 1)

                    1) กำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศพหุชาติพันธุ์ โดยมีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลาย กลมกลืน และแตกต่างกัน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อของกลุ่มบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม (ร่างมาตรา 6)

                     2) กำหนดให้การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต้องสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยผูกพัน (ร่างมาตรา 7)

                     3) กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนจะกระทำการโดยมีนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ย่อมกระทำมิได้ (ร่างมาตรา 8 วรรคหนึ่ง)

                    4) กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศอันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ เกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ (ร่างมาตรา 10 วรรคหนึ่ง)

                    4) กำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นผู้เสียหายจากการกระทำอันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากผู้ใด หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงการกระทำจากการโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศมีสิทธิร้องขอต่อ “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ร่างกฎหมายนี้กำหนดขึ้น เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้ และคำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร้องขอ การรวบรวมพยานหลักฐาน การไกล่เกลี่ยและการวินิจฉัยให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ร่างมาตรา 10 วรรคสอง และร่างมาตรา 11)

                    5) กำหนดให้การร้องขอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติตามร่างมาตรา 9 วรรคหนึ่งและร่างมาตรา 10 วรรคสอง ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องในฐานะผู้เสียหายในการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาลที่มีเขตอำนาจ โดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินได้ และหากการกระทำตามที่ร้องขอกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ศาลสามารถกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษโดยกำหนดไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงด้วยก็ได้ (ร่างมาตรา 9 วรรคสอง และร่างมาตรา 10 วรรคสาม)

                    6) กำหนดเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์

                        (1) สิทธิใช้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญา ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนมีหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม (ร่างมาตรา 12)

                        (2) สิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน (ร่างมาตรา 13)

                        (3) สิทธิได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต (ร่างมาตรา 14)

                        (4) สิทธิได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน และกิจกรรม
ที่อาจอาจมีผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชาติพันธุ์ รวมทั้งได้รับการคุ้มครองในการเข้าร่วมและดำเนินกิจกรรม (ร่างมาตรา 15)

                        (5) สิทธิได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางสังคม โดยได้รับการจัดสรรที่คำนึงถึงสัดส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ (ร่างมาตรา 16)

                    7) กำหนดเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์

                        (1) การส่งเสริมและคุ้มครองในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน (ร่างมาตรา 17)

                        (2) การคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีวิตในสังคม สิทธิครอบครองและสิทธิในการจัดการพื้นที่ชุมชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรม และจิตวิญญาณ (ร่างมาตรา 18)

                3. คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ (หมวด 2)

                    1) กำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ” โดยกำหนดองค์ประกอบให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเลือกกันเอง 1 คน เป็นรองประธานกรรมการ รวมถึงกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนประเภทละ 7 คน โดยให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในกรมจำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 19 และร่างมาตรา 20)

                   2) กำหนดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ไว้จำนวนคราวละ 4 ปี โดยกรรมการทั้ง 2 ประเภทที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการตำแหน่งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน รวมถึงกำหนดให้กรรมการทั้ง 2 ประเภทพ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ได้แก่ ตาย ลาออก คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งนี้ กรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้มีการแต่งตั้งกรรมการแทน โดยให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลตามคุณสมบัติเดิมแทนและให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนดำรงตำแหน่งตามวาระที่เหลืออยู่ (ร่างมาตรา 21 ร่างมาตรา 22 และร่างมาตรา 23)

                   3) กำหนดเรื่องการประชุม โดยต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม และกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานปฏิบัติหน้าที่เป็นประธาน หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้เลือกกรรมการที่มาประชุมปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว รวมถึงให้มีการประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง (ร่างมาตรา 24)

                   4) กำหนดเรื่องหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ โดยให้คณะกรรมการกำหนดนโยบาย มาตรการ ระเบียบและแผนการปฏิบัติงาน เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อคณะรัฐมนตรี ประกาศเขตพื้นที่ชุมชน พื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และพื้นที่อื่น รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 25)

                   5) กำหนดเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติมอบหมาย และให้นำเรื่องการประชุมตามร่างมาตรา 24 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 26)

                   6) กำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานคร”
โดยกำหนดองค์ประกอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเลือกกันเอง 1 คนเป็นรองประธานกรรมการ และกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนประเภทละ 7 คน โดยให้ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้กรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์เลือกกันเอง 1 คนเป็นเลขานุการร่วม รวมถึงให้แต่งตั้งข้าราชการในสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานครจำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ (ร่างมาตรา 27)

                        7) กำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด” โดยกำหนดองค์ประกอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเลือกกันเอง 1 คนเป็นรองประธานกรรมการ และกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนประเภทละ 7 คน โดยให้ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้กรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์เลือกกันเอง 1 คนเป็นเลขานุการร่วม รวมถึงให้ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดแต่งตั้งข้าราชการในจังหวัดจำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ (ร่างมาตรา 28)

                   8) กำหนดให้นำหลักการเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งตามวาระ การพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ การแต่งตั้งกรรมการแทน และการปฏิบัติหน้าที่มาใช้กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ ในคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานครและคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดโดยอนุโลม รวมถึงให้นำหลักการเรื่องการประชุมและการตั้งคณะอนุกรรมการมาใช้ได้โดยอนุโลมด้วย (ร่างมาตรา 29 และร่างมาตรา 30)

                   9) กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานครและคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดมีหน้าที่และอำนาจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ ระเบียบเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คำปรึกษา แนะนำ ประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ และปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 30)

                4. สภากลุ่มชาติพันธุ์ (หมวด 3)

                    1) กำหนดให้มีสภากลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาลงคะแนนเลือกกันเองในแต่ละกลุ่ม จำนวนกลุ่มละไม่เกิน 5 คน การเลือกกันเองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภากลุ่มชาติพันธุ์กำหนด โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมทั้งเพศชาย เพศหญิง เพศสภาพ ตัวแทนเยาวชน ความเท่าเทียมภายในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และมีความสอดคล้องทางวัฒนธรรมทั้งนี้ ให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานสภากลุ่มชาติพันธุ์ (ร่างมาตรา 32 และร่างมาตรา 48)

                   2) กำหนดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์ โดยต้องมีสัญชาติไทยหรือเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ร่างมาตรา 33)

                   3) กำหนดให้สมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีนับแต่ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา และอาจได้รับการคัดเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้ โดยสมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการคัดเลือกใหม่จะเข้ารับหน้าที่ รวมถึงกำหนดให้สมาชิกพ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ได้แก่ ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ขาดประชุมโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภา 3 ครั้งติดต่อกัน สภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ให้ถอดถอนเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ และถูกถอดถอนโดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่คัดเลือกกันเองตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและถอดถอนสมาชิก (ร่างมาตรา 34 และร่างมาตรา 35)

                    4) กำหนดเรื่องการประชุมสภากลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้มีการประชุมครั้งแรกภายใน 60 วันนับแต่มีการประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการประชุมสามัญสภาอย่างน้อยต้องมีปีละ 2 ครั้งส่วนการประชุมวิสามัญสภาให้ประชุมเมื่อสมาชิกเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ขอให้มีการประชุมสภา หรือมีเหตุจำเป็นอันมิอาจเพิกเฉยได้ ทั้งนี้ การประชุมสภาต้องเปิดเผย และต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม (ร่างมาตรา 36 และร่างมาตรา 37)

                   5) กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์เชิญหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนหรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น หรือให้ส่งเอกสารหรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ (ร่างมาตรา 38)

                    6) กำหนดให้สมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่สภาแต่งตั้งได้รับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 39)

                   7) กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมหรือข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสภาได้ (ร่างมาตรา 40)

                   7) กำหนดเรื่องหน้าที่และอำนาจของสภากลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้เสนอนโยบาย มาตรการส่งเสริมและคุ้มครองต่อคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรม รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 41)

                   8) กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์มี “คณะกรรมการสภากลุ่มชาติพันธุ์” ประกอบด้วยประธานสภา 1 คน ซึ่งดำเนินการเลือกจากการประชุมสภาครั้งแรก รองประธานสภา 5 คน ซึ่งให้สมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์แต่ละภูมิภาคเสนอรายชื่อตัวแทนเป็นหญิง 1 คน และชาย 1 คน เพื่อให้ที่ประชุมเลือก เลขานุการสภา 1 คน ซึ่งประธานสภาเสนอชื่อให้ที่ประชุมสภารับรอง และกรรมการสภา 15 คน ซึ่งให้สมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์คัดเลือกกันเองตามสัดส่วนจากแต่ละภูมิภาค กลุ่มชาติพันธุ์ เพศและเยาวชน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสภากลุ่มชาติพันธุ์มีการประชุมตามภารกิจอย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้งโดยให้ประธานสภาเป็นผู้เรียกประชุม(ร่างมาตรา 42 และร่างมาตรา 43)

                   9) กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์มี “คณะผู้อาวุโสสภากลุ่มชาติพันธุ์” จำนวน 15 คน
โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศสภาพ และให้กระจายสัดส่วนไปตามกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาค โดยคณะกรรมการสภากลุ่มชาติพันธุ์เสนอให้ที่ประชุมสภารับรอง ซึ่งมีการกำหนดคุณสมบัติทางด้านความรู้ ความประพฤติ และต้องเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงได้กำหนดหน้าที่และอำนาจในการให้คำปรึกษาแก่สมาชิกสภา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และสำนักงานสภาในเรื่องต่าง ๆ และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ร่างมาตรา 44 ร่างมาตรา 45 และร่างมาตรา 46)

 

                5. บทลงโทษ (หมวด 4)

                    - กำหนดโทษสำหรับผู้ใดที่ฝ่าฝืนมาตรา 10 วรรคแรก กรณีห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศอันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ในกลุ่มชาติพันธุ์ (ร่างมาตรา 49)

                6. บทเฉพาะกาล

                   1) กำหนดให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำรวจและจัดทำข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ภายใน 360 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 50)

                    2) กำหนดให้ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จนกว่าจะมีการโอนบรรดาการบริหารจัดการต่าง ๆ ของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงไปยังศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แล้วเสร็จ (ร่างมาตรา 51)

                    3) กำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกำหนด (ร่างมาตรา 52)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

3. ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

4. ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

5. อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

6. ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

7. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

8. ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร

9. ตำแหน่งอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ

9.1 กรรมการโดยตำแหน่งของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ

      (1) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

      (2) ปลัดกระทรวงมหาดไทย

      (3) ปลัดกระทรวงยุติธรรม

      (4) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

      (5) ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

9.2 กรรมการโดยตำแหน่งของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานคร คือ

(1) ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

(2) ผู้แทนกรมการปกครอง

(3) ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

(4) ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

(5) ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(6) ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

(7) ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

9.3 กรรมการโดยตำแหน่งของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด คือ

(1) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(2) พัฒนาการจังหวัด

(3) ยุติธรรมจังหวัด

(4) ศึกษาธิการจังหวัด

(5) ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้องจังหวัด

(6) วัฒนธรรมจังหวัด

(7) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

9.4 ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด

10. องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

11. ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์

12. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยกับการให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 หรือไม่ อย่างไร
  2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดห้ามมิให้มีการกระทำใดอันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นการกระทำของผู้ใด หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงห้ามมิให้มีการโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศในการกระทำดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร
  3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ” โดยมีการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง หน้าที่และอำนาจ การตั้งคณะอนุกรรมการ รวมถึงให้กรมพัฒนาสังคมและสวัดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ หรือไม่ อย่างไร
  4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์สามารถมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำ หรือห้ามมิให้กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่กลุ่มชาติพันธุ์ร้องขอ และให้คำสั่งเป็นที่สุด หรือไม่ อย่างไร
  5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้การกระทำซึ่งเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์สามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดได้ และหากเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง หรือไม่ อย่างไร
  6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ กรุงเทพมหานคร” โดยมีการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่และอำนาจ และให้ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร เป็นเลขานุการ หรือไม่ อย่างไร
  7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด” โดยมีการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่และอำนาจ และให้ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุมครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด เป็นเลขานุการ หรือไม่ อย่างไร
  8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “สภากลุ่มชาติพันธุ์” โดยกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง หน้าที่และอำนาจ การมีคณะกรรมการสภา คณะผู้อาวุโสสภา รวมถึงการให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นสำนักงาน หรือไม่ อย่างไร
  9. ท่านเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดให้มีการโอนบรรดาการบริหารจัดการของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปยัง “ศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์” หรือไม่ อย่างไร