สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายประกอบ รัตนพันธ์
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม สนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การจัดการระบบการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ความคล่องตัวที่จะรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชนและภาคเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา และมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านการศึกษา โดยเฉพาะให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน จึงสมควรมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแนวทางการบริหาร และการจัดการศึกษาในอนาคต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา โดยมีการแบ่งเป็นช่วงวัยที่หนึ่งถึงวัยที่เจ็ด จำแนกเป้าหมาย ระดับ และสมรรถนะของแต่ละช่วงวัยให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ กำหนดการส่งเสริม และสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการจัดการศึกษา

2. กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการจัดการศึกษา จัดให้มีสถานศึกษาของรัฐเพื่อจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย จัดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อทำหน้าที่กำกับ เสนอแนะหรือช่วยเหลือเพื่อให้สถานศึกษาจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย และหน้าที่อื่นตามระเบียบ กำหนดองค์ประกอบวิธีการได้มาคุณสมบัติ อำนาจ และการดำเนินงานของคณะกรรมการสถานศึกษา

3. กำหนดเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาของรัฐ ที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กำหนดเงินได้ของสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กำหนดการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา การจัดหาผลประโยชน์ การใช้เงินได้ของสถานศึกษากรณีเป็นการเฉพาะ

4. กำหนดความเป็นอิสระ และหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และความปลอดภัยของสถานศึกษา

5. กำหนดหน้าที่ของครูและผู้สอนในสถานศึกษา การปฏิบัติหน้าที่ของครู และวิธีการเอื้ออำนวยความรู้ของครู

6. กำหนดหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตและพัฒนาครู และนักพัฒนาการศึกษา และคุรุสภาร่วมกันจัดให้มีการศึกษา และวิจัยหาต้นแบบ กระบวนการ และวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพใน
การจัดการเรียนการสอนในการผลิตครูซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

7. กำหนดเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์และนักพัฒนาการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงอื่น

8. การจัดให้มีองค์กร การกำหนดอำนาจหน้าที่ และการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีในการออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต

9. กำหนดให้มีองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์ และนักพัฒนาการศึกษา โดยมีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของ
สภาวิชาชีพในกำกับของกระทรวง และกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว

10. กำหนดให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์ และนักพัฒนาการศึกษาที่มีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน ให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายกำหนดโดยยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่นักพัฒนาการศึกษาที่จัดการศึกษาตามมาตรา 41 (2) และ (3) และวิทยากรพิเศษทางการศึกษา

11. กำหนดให้การกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์ และนักพัฒนาการศึกษา ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

12. กำหนดให้องค์กรส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์ และนักพัฒนาการศึกษา เพื่อส่งเสริมช่วยเหลือ และเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์ และนักพัฒนาการศึกษา

13. กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐขอความร่วมมือจากบุคคลซึ่งมีประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมถ่ายทอดสดประสบการณ์ความรู้ หรือภูมิปัญญาให้แก่ผู้เรียนเป็นครั้งคราวโดยผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมรวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติ
ผู้ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษาตามสมควรได้ ผู้ได้รับเชิญดังกล่าวอาจมีหรือไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็ได้

14. กำหนดรูปแบบการจัดการศึกษา และกำหนดความหมายของการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ หน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษา เพื่อคุณวุฒิตามระดับอย่างทั่วถึง และกำหนดระดับของการศึกษาเพื่อคุณวุฒิ

15. กำหนดการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการประกอบอาชีพหรือการฝึกอบรมอาชีพ ให้จัดโดยสถานศึกษา หรือโดยความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ หรือโดยวิธีการอื่นใด ในกรณีที่สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการ มิให้ถือว่าสถานประกอบการนั้นจัดตั้งสถานศึกษาหรือประกอบกิจการสถานศึกษา และจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการซึ่งให้ความรู้หรือให้การฝึกอบรมแก่ผู้เรียน ทั้งนี้อาจมีหรือไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็ได้และให้ใช้บังคับกับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพหรือทักษะอาชีพชั้นสูงด้วย

16. กำหนดให้จัดให้มีระบบการเทียบเคียง หรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะ ที่ได้รับจากการศึกษาจากระบบเดียวกันแต่ต่างสถานศึกษา หรือจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง หรือจากต่างประเทศ หรือจากการศึกษาตามมาตรา 10 (2) เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าศึกษาหรือการรับรองระดับการศึกษาต่างสถานศึกษา หรือต่างระบบได้ และกำหนดการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนสามารถจัดการศึกษาให้มีการเทียบเคียง หรือเทียบโอนผลการเรียน ตามเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

17. กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดหลักสูตร สมรรถนะ และเป้าหมาย

18. กำหนดให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้

19. กำหนดให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาต้องมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก
ให้ครูสามารถบูรณาการความรู้ และประสบการณ์ที่ได้จากการจัดกระบวนการเรียนรู้ มาใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น

20. กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน และอุดหนุนการจัดการศึกษาของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ไม่รวมถึง
การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจของกระทรวงอื่นที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

21. กำหนดให้สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และให้ได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน การยกเว้นภาษีอากรทุกประเภท และสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษาแก่สถานศึกษาเอกชน รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐาน และสามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งการส่งเสริม การสนับสนุน และการกำกับดูแลอาจแยกประเภท เพื่อให้การสนับสนุนที่แตกต่างกันได้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกับสถานศึกษาของรัฐและภาระในการจัดการศึกษาที่เอกชนดำเนินการแทนรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

22. กำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดการศึกษา หรือเอกชนซึ่งมีสิทธิในการจัดการศึกษาต้องดำเนินการจัดการศึกษาให้ได้ผลตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด และให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่จัดการศึกษาจัดให้มีศึกษานิเทศก์ นักพัฒนาการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถในการแนะนำ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินการของสถานศึกษาตามความจำเป็น

23. กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการจัดการศึกษาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบหรือวิธีการอื่นใดให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก โดยต้องมีความครอบคลุม ถูกต้องเชื่อถือได้ และอย่างน้อยต้องมีรายการข้อมูลตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยคณะกรรมการนโยบายศึกษาแห่งชาติมีอำนาจสั่งให้สถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลหรือเอกสารเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่คณะกรรมการนโยบายได้

24. กำหนดให้มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติต้องสอดคล้อง และไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและเนื้อหาอย่างน้อยในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของแผนการศึกษาแห่งชาติทุกห้าปี

25. กำหนดให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายศึกษาแห่งชาติร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการรายปี และกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายศึกษาแห่งชาติติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการ  

26. กำหนดให้รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการรับส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม การสื่อสารดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และการสื่อสารในรูปแบบอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษา

27. กำหนดให้รัฐจัดให้มี ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาสื่อ การเรียนรู้ แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ ในรูปแบบสื่อเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผู้เรียน ครู และส่งเสริมการศึกษาและเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

28. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม
การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม หน้าที่และอำนาจ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ
  2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  3. กระทรวงมหาดไทย
  4. กระทรวงการคลัง
  5. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
  6. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  7. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
  8. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
  9. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  10. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  11. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
  12. สมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย
  13. สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย
  14. สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์
  15. สมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน
  16. สมาคมเครือข่ายสมาชิกช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย
  17. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของการจัดการศึกษา โดยมีการแบ่งเป็นช่วงวัยที่หนึ่งถึงวัยที่เจ็ด จำแนกเป้าหมาย ระดับ และสมรรถนะของแต่ละช่วงวัยให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการจัดการศึกษา จัดให้มีสถานศึกษาของรัฐเพื่อจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย และให้เพียงพอ มีสภาพและสิ่งแวดล้อมและสภาวะที่ปลอดภัยต่อร่างกายและจิตใจ โดยคำนึงถึงจำนวนและสภาพของผู้เรียน ระยะทาง หรือการอำนวยความสะดวกในการเดินทางประกอบกับสถานศึกษาที่ภาคเอกชนได้จัดให้มีขึ้นอยู่แล้ว
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อทำหน้าที่กำกับ เสนอแนะหรือช่วยเหลือเพื่อให้สถานศึกษาจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย และหน้าที่อื่นตามระเบียบ
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดหน้าที่ของครูและผู้สอนในสถานศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ สร้างนิสัยและสมรรถนะ ปกป้องดูแลสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของครู และวิธีการเอื้ออำนวยความรู้ของครู
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาเป็นสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือทั้งสามรูปแบบก็ได้เพื่อบรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องความสนใจของผู้เรียน เพื่อคุณวุฒิตามระดับ เพื่อการพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พัฒนา และจัดทำต้นแบบหลักสูตร จัดทำต้นแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยคำนึงถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ จัดให้มีแนวทางหรือวิธีการการฝึกอบรมและพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษาและนักพัฒนาการศึกษา เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร และการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน และอุดหนุนการจัดการศึกษาของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจของกระทรวงอื่นที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
  8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
    ที่จัดการศึกษา หรือเอกชนซึ่งมีสิทธิในการจัดการศึกษา ต้องดำเนินการจัดการศึกษาให้ได้ผลตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด
  9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการจัดการศึกษาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบหรือวิธีการอื่นใดให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก โดยต้องมีความครอบคลุมและถูกต้องเชื่อถือได้
  10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ
  11. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้รัฐจัดให้มี ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาสื่อ การเรียนรู้ แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ ในรูปแบบสื่อเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผู้เรียน ครู และส่งเสริมการศึกษาและเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  12. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายศึกษาแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ เช่น เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณาขอคณะรัฐมนตรี เสนอแนะเกี่ยวกับแผนอัตรากำลังด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ จัดให้มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง และกำหนดมาตรการที่จะให้หน่วยงานของรัฐชี้ชวน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น