สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่โดยที่เจ้าพนักงานในการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ล้วนเป็นผู้มีหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง จึงอาจกล่าวได้เจ้าพนักงานดังกล่าวนี้เป็นผู้รักษาและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งย่อมจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและด้วยความชื่อตรงต่อกฎหมายอย่างถึงที่สุด หากเจ้าพนักงานดังกล่าวถูกอคติครอบงำหรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตกระทำการบิดเบือนบังคับใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงขอบเขตของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นิติวิธีการใช้การตีความกฎหมายหลักการทางกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับ เจตนารมณ์หรือคุณธรรมทางกฎหมาย ตลอดจนขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่อันมีที่มาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ก่อให้เกิดสภาวะที่ระบบกฎหมายปราศจากความมั่นคงแน่นอน อันเป็นการบั่นทอนมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมของประเทศในภาพรวมให้ปราศจากความน่าเชื่อถือ และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ตลอดจนนานาอารยประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันมิได้กำหนดฐานความผิดจากการกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานในการยุติธรรมไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

          ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเดิมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดนิยามของคำว่า “บิดเบือนกฎหมาย” และกำหนดความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมบิดเบือนกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในการสอบสวน การทำความเห็นทางคดี การสั่งพ้องหรือไม่ฟ้องคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การพิจารณาคดี การทำคำพิพากษาหรือคำชี้ขาดตัดสินคดี และการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานศาลยุติธรรม
  2. สำนักงานอัยการสูงสุด
  3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  4. หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภาคประชาชน
  5. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า บิดเบือนกฎหมาย หมายความว่า การที่เจ้าพนักงานในตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงขอบเขตของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นิติวิธีการใช้การตีความกฎหมาย หลักการทางกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับ เจตนารมณ์หรือคุณธรรมทางกฎหมาย ตลอดจนขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่อันมีที่มาจากบทบัญญัติแห่งกฎหาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (ร่างมาตรา 3)
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือการทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี (ร่างมาตรา 4 วรรคหนึ่ง)
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้อง หรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี (ร่างมาตรา 4 วรรคสอง)
  4. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)