ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่กฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาอันทำให้บทบัญญัติบางมาตราไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถตีความบทบัญญัติได้อย่างกว้างขวางและมีการนำบทบัญญัติมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 34 ความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” จากหลักการและข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นย่อมเห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดข้อยกเว้นในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เกินกว่าสมควร ประกอบกับการที่บทบัญญัติบางมาตราใช้คำว่า "ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" มากำหนดเป็นองค์ประกอบความผิดนั้นย่อมเป็นการใช้ถ้อยคำที่สามารถพิสูจน์ได้ยากและไม่มีความชัดเจน จึงนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราเกี่ยวกับฐานความผิด บทกำหนดโทษ อำนาจของศาล และอำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องต่อศาลให้มีความเหมาะสม และเป็นไปอย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้และสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถรับมือกับสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ เพื่อทำให้การรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบตามกลไกของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จึงสามารถสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม เป็นดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดและบทกำหนดโทษในการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 และมาตรา 16)
มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่กำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน ปลอม หรือเป็นเท็จ หรือข้อมูลที่กระทบความมั่นคง หรือข้อมูลลามก โดยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้เหลือเพียงฐานความผิดเดียวคือ "ฐานความผิดกรณีหลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อข้อมูลปลอม" หรือเรียกว่า ความผิดฐานปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ และกำหนดให้ฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ ส่วนมาตรา 14 วรรคสอง มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้การกระทำความผิดตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง หากมิได้กระทำต่อประชาชนผู้กระทำต้องได้รับโทษเบาลง เสนอแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้การกระทำความผิดตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง หากเป็นการกระทำต่อประชาชนผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง กรณีความผิดฐานปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเป็นการกำหนดโทษที่ลดลงจากกฎหมายเดิมซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 14 วรรคสอง หากเป็นกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำต่อประชาชน ได้เสนอให้กำหนดโทษที่สูงขึ้นจากกฎหมายเดิมโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากที่กฎหมายเดิมกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งซึ่งมิได้กระทำต่อประชาชนเป็นโทษที่ต่ำกว่านี้โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษในมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีความผิดฐานนำข้อมูลภาพของผู้อื่นที่สร้างขึ้น ตัดต่อ เติม ดัดแปลงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ซึ่งกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น โดยให้ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดโทษที่ต่างจากกฎหมายเดิมซึ่งกำหนดให้มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
2. แก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดและอำนาจของศาลให้ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16/1 และมาตรา 16/2)
มาตรา 16/1 มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกรณีที่กำหนดให้ศาลอาจสามารถสั่งให้ทำลายข้อมูล หรือให้โฆษณาหรือเผยแพร่คำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือให้ดำเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งดังกล่าวได้เฉพาะคดีที่เป็นความผิดตามมาตรา 14กรณีความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อข้อมูลโดยทุจริต และมาตรา 16 กรณีความผิดฐานนำข้อมูลภาพของผู้อื่นที่สร้างขึ้น ตัดต่อ เติม ดัดแปลงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรืออับอาย โดยร่างกฎหมายนี้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนต้น โดยตัดความว่า "มาตรา 14 หรือมาตรา 16 ซึ่งมี" ออก เพื่อให้ศาลอาจสามารถสั่งให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวได้ในทุกฐานความผิดตามที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดอันเป็นไปตามที่ศาลเห็นสมควร
มาตรา 16/2 มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกรณีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งศาลในการให้ทำลายข้อมูลตามมาตรา 16/1 ซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ที่ "รู้" ว่าศาลสั่งเท่านั้น แต่ร่างกฎหมายที่เสนอได้กำหนดให้ทั้งผู้ที่ "รู้หรือได้รับแจ้งให้รู้" ด้วย นอกจากนี้ยังได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมความให้สอดคล้องกับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 16/1 โดยจากเดิมที่กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 16/2 ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ใน "มาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี "โดยร่างกฎหมายนี้เสนอให้ตัดความว่า "มาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี" ออก โดยกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่มีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด
3. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20)
มาตรา 20 มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ จากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินกระบวนการดังกล่าวโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รัฐมนตรี) และกำหนดให้รัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อดำเนินการสำหรับกรณีที่ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีการทำให้แพร่หลาย โดยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้การยื่นคำร้องต่อศาลดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งได้ร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้เป็นผู้ดำเนินการ โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ตัดการดำเนินการของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีออกทั้งหมด
นอกจากนี้ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลจะสั่งให้ระงับหรือลบได้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จากที่กฎหมายเดิมกำหนดให้เป็นข้อมูลที่อาจกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อมูลที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหรือกฎหมายอื่นซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เปลี่ยนเป็นข้อมูลที่เป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลที่เป็นความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอม หรือข้อมูลเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น และข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และมีการเสนอเพิ่มหลักการให้คำสั่งศาลในกรณีนี้มีผลได้ไม่เกิน 365 วัน และให้เปิดเผยต่อสาธารณะ