การกู้เงินของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 20 ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณในกรณีที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ และเพื่อให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ แต่การกู้เงินของรัฐบาลที่นอกเหนือไปจากเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะนั้นจะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
ที่ผ่านมารัฐบาลมีการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการตรากฎหมายขึ้นเป็นการเฉพาะ เช่น พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินหนึ่งล้านล้านบาท และก่อนหน้านั้นหลายรัฐบาลก็มีการตรากฎหมายกู้เงินในกรณีพิเศษ เช่น พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 400,000 ล้านบาท (พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง) หรือพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท (พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ) ซึ่งเป็นการกู้เงินมาใช้นอกงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นจำนวนครั้งละมาก ๆ ที่จะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น เพื่อวางหลักเกณฑ์การก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐที่ต้องกระทำด้วยความรอบคอบและคำนึงถึงความคุ้มค่าและความสามารถในการชำระหนี้ ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลังตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ จึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีสาระสำคัญ คือ ให้การกู้เงินของรัฐบาลที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การกู้เงินของรัฐบาลที่นอกเหนือจากที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็โดยแต่การตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศโดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน