สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ยื่นคำขอและการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือ

ทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ
ในกรณีดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

สาระสำคัญ

         แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ
ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ดังต่อไปนี้

         (๑) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”

         (๒) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายระยะเวลา
ให้ความช่วยเหลือในการกู้ยืม

         (๓) แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้ วงเงินกู้ยืม อัตราดอกเบี้ย และการไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ รวมถึงการชดเชยให้สถาบันการเงิน

         (๔) ขยายระยะเวลาให้สถาบันการเงินในการชำระคืนเงินที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ย

         (๕) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และอัตราการชดเชยให้สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงิน รวมถึงขยายระยะเวลาการเริ่มดำเนินการคำนวณเงินชดเชย

         (๖) กำหนดบทเฉพาะกาลกรณีที่ในการยื่นคำขอและการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กระทรวงการคลัง
  2. ธนาคารแห่งประเทศไทย
  3. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  4. สมาคมธนาคารไทย
  5. กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
  6. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  7. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1.  ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขบทนิยามคำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หมายความว่า วิสาหกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 หรือมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 5000,000,000 บาท และไม่เป็นธุรกิจที่มีลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือในการกู้ยืมต่อไปและยังมีวงเงินเหลืออยู่ ออกไปอีกคราวละไม่เกินหกเดือนก็ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการขยายระยะเวลา
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเงื่อนไขให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยวงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นวงเงินกู้เพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ แต่ไม่รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค อัตราดอกเบี้ยระยะ 5 ปีแรก คิดอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี และไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยในระยะเวลา 6 เดือนแรก ในกรณีที่ผู้กู้คงการจ้างงานของลูกจ้างที่ประกันตน ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้าง
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเงื่อนไขให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยวงเงินที่ให้วิสาหกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน รวมกันไม่เกิน 20,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยระยะ 5 ปีแรก คิดอัตราไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยในระยะเวลา 6 เดือนแรก ในกรณีที่ผู้กู้คงการจ้างงานของลูกจ้างที่ประกันตน ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้าง
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงิน ได้รับการชดเชยการเนื่องจากไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบการวิสาหกิจ และให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนอันเนื่องมาจากการให้กู้ยืมเงิน
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการให้วงเงินกู้ยืม ต้องคำนึงถึงการกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงและเหมาะสม ไปยังกิจการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาด วิสาหกิจขนาดย่อม และวิสาหกิจที่มีประวัติเสียภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการขยายระยะเวลาให้สถาบันการเงินชำระคืนเงินที่กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยจากภายใน 2 ปี เป็นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับเงินกู้
  8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สถาบันการเงินได้รับชดเชยความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงินในอัตราไม่เกินร้อยละ 80 ของความเสียหายของลูกหนี้แต่ละราย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
  9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการขยายระยะเวลาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มคำนวณเงินชดเชยเสนอต่อคณะกรรมการจากเดิมเมื่อครบ 2 ปี 6 เดือน เป็น 5 ปี รวมถึงการกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดแนวทางการนำส่งข้อมูลจากสถาบันการเงินเพื่อประกอบการคำนวณเงินชดเชย
  10. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)