ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นการให้บริการสาธารณะทางด้านการศึกษาแก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้กู้ยืมเงินให้มีการศึกษาที่ดีมีแรงจูงใจในการศึกษาและลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้
สาระสำคัญ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ดังนี้
- กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืม เงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย และการผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนกองทุน ลดหย่อนหนี้ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามมาตรา 44 (ร่างมาตรา 3)
- กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร่างมาตรา 4)
- ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญากู้ยืมเงิน (ร่างมาตรา 5)
- กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 6)
- กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 สามารถแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาโดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร่างมาตรา 7)
- กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระคืน (ร่างมาตรา 7)
- กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 8)
- ผู้กู้ยืมเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุนแล้ว ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ยืมเงินได้ปฏิบัติตามดังกล่าวแล้ว ก็ให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลบัตรเครดิต (ร่างมาตรา 9)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 10)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงศึกษาธิการ
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- กระทรวงการคลัง
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
- สำนักงบประมาณ
- นักเรียน นิสิต นักศึกษา
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ด้านการเงิน และด้านกฎหมาย
- สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษา
- ประชาชนทั่วไป
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับ ๑ สามารถแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาโดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาดังกล่าวคืน
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระคืน
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้รับทุนการศึกษาก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุนแล้ว ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ยืมเงินได้ปฏิบัติตามดังกล่าวแล้ว ก็ให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลบัตรเครดิต
- ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)