สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครสมุย พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดหลักการให้สามารถจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ โดยกำหนดให้การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเอง มีความโปร่งใส และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดกลไกให้ประชาชนเสนอความต้องการและตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ พร้อมทั้งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการประชาชนและจัดกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ มีรายได้เป็นของตนเอง และมีอิสระในการบริหารงานต่าง ๆ โดยจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ พร้อมทั้งกำหนดให้การบริหารงานบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามระบบคุณธรรม
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  1. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภานครสมุย “ข้อบัญญัติ” หมายความว่า ข้อบัญญัตินครสมุย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ร่างมาตรา ๓)
  2. ให้ยุบเลิกเทศบาลนครเกาะสมุยและจัดตั้งนครสมุยขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีฐานะเป็นนิติบุคคล (ร่างมาตรา ๕)
  3. การบริหารนครสมุยประกอบด้วย สภานครสมุย นายกนครสมุย และคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย (ร่างมาตรา ๗)
  4. ให้สภานครสมุยประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๒๔ คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนครสมุย (ร่างมาตรา ๘)
  5. การเลือกตั้งสมาชิกสภานครสมุยให้กระทำโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ และให้แบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่นครสมุยออกเป็น ๔ เขต แต่ละเขตให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน และให้มีจำนวนสมาชิกเท่ากันในแต่ละเขต (ร่างมาตรา ๑๓)
  6. การประชุมสภานครสมุยต้องกระทำโดยเปิดเผยตามลักษณะที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภานครสมุย หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ร้องขอให้ประชุมลับก็ให้ประชุมลับและประชาชนมีสิทธิเข้าฟังการประชุมสภานครสมุยได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภานครสมุย (ร่างมาตรา ๓๙)
  7. สมาชิกสภานครสมุยมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกนครสมุยในเรื่องที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของนายกนครสมุย โดยจะให้ตอบในที่ประชุมสภานครสมุยหรือตอบเป็นหนังสือภายใน ๗ วันก็ได้เว้นแต่กรณีการเปิดเผยเรื่องที่ถามอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นครสมุยหรือทางราชการ นายกนครสมุยอาจไม่ตอบก็ได้ แต่ต้องชี้แจงเหตุผลให้ผู้ตั้งกระทู้ถามทราบ (ร่างมาตรา ๔๐)
  8. สมาชิกนครสมุยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมสภานครสมุย เพื่อให้นายกสมุยแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการสมุยโดยไม่มีการลงมติ (ร่างมาตรา ๔๑)
  9. สภานครสมุยมีอำนาจเลือกสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญของสภานครสมุยและมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภานครสมุย เพื่อกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภานครสมุยแล้วรายงานต่อสภานครสมุย (ร่างมาตรา ๔๒)
  10. สภาสมุยมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิก ข้อบังคับการประชุม การเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างข้อบัญญัติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งและการตอบกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นอันเป็นหน้าที่ของสภานครสมุย (ร่างมาตรา ๔๓)
  11. กำหนดให้นายกสมุยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนครสมุย (ร่างมาตรา ๔๕)
  12. สำนักปลัดนครสมุยมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับราชการทั่วไปนครสมุยและราชการอื่นที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการใดโดยเฉพาะ (ร่างมาตรา ๖๒)
  13. ในการปฏิบัติหน้าที่ให้นายกนครสมุย รองนายกนครสมุย และพนักงานนครสมุยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา ๖๙)
  14. การดำเนินการเรื่องใดที่นายกนครสมุยเห็นว่าอาจกระทบถึงประโยชน์สาธารณะ สภาพเศรษฐกิจและสังคม หรือความเป็นอยู่โดยส่วนรวมของประชาชน อาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตสมุย (ร่างมาตรา ๗๐)
  15. การบริหารงานและจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่นครสมุย อาจกำหนดเขตการแบ่งเขตการบริหารในพื้นที่นครสมุยได้ โดยพยายามจัดให้แต่ละเขตมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ต้องไม่นำเอาพื้นที่เพียงบางส่วนของตำบลหนึ่งไปรวมกับตำบลอื่น และในแต่ละเขตมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บังคับบัญชา (มาตรา ๗๑)
  16. ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย จำนวน ๒๑ คน ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย ๑) หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้แทนรัฐวิสาหกิจ จำนวน ๗ คน ๒) ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้แทนชุมชน จำนวน ๗ คน ๓) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จำนวน ๗ คน (ร่างมาตรา ๗๒)
  17. ให้มีคณะกรรมการสรรหาเพื่อสรรหากรรมการ จำนวน ๙ คน ประกอบด้วย นายกนครสมุย นายอำเภอเกาะสมุย แม่ทัพภาคที่ ๔ ผู้อำนวยการโรงเรียนประจำอำเภอสมุย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอการสมุย เกษตรอำเภอเกาะสมุย ผู้แทนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย (ร่างมาตรา ๗๒ วรรคสอง)
  18. ในกรณีที่มีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ดำเนินกิจการใดที่อยู่นอกเขตนครสมุยที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยสิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตนครสมุย ให้นายกนครสมุยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกัน (ร่างมาตรา ๘๔)
  19. นครสมุยมีอำนาจตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย (ร่างมาตรา ๙๒)
  20. การเสนอร่างข้อบัญญัติให้ผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ เปิดเผยร่างข้อบัญญัตินั้นให้ประชาชนทราบทั่วกัน และกรณีร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้เปิดเผยสาระสำคัญว่าจะมีการใช้งบประมาณไปในกิจการใดบ้าง (ร่างมาตรา ๙๕)
  21. ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภานครสมุยจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันได้รับร่างข้อบังคับฯ นั้น (ร่างมาตรา ๙๘)
  22. กรณีที่สภานครสมุยไม่เห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้สภาสมุยตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วย ๑) สมาชิกซึ่งสภาสมุยแต่งตั้ง จำนวน ๗ คน ๒) บุคคลซึ่งเป็นหรือไม่ได้เป็นสมาชิกสภาสมุย ซึ่งนายกนครสมุยเสนอ จำนวน ๗ คน ๓) กรรมการทั้ง ๑๔ คน เสนอบุคคลซึ่งได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นสมาชิก ๑ คน ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ (ร่างมาตรา ๑๐๐)
  23. กรณีที่นายกนครสมุยไม่เห็นชอบกับการดำเนินงานของสภานครสมุย ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติให้นายกสมุยไม่เห็นชอบรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและให้สภานครสมุยสิ้นสุด โดยให้ถือเป็นการยุบสภาและให้นายกนครสมุยพ้นจากตำแหน่ง และร่างข้อบัญญัติงบประมาณดังกล่าวตกไป (ร่างมาตรา ๑๐๒)
  24. ในระหว่างที่ไม่มีสภานครสมุย กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องบัดภัยพิบัติสาธารณะ นายกสมุยขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดออกข้อบังคับใช้ได้โดยอนุโลม (ร่างมาตรา ๑๐๕)
  25. นครสมุยอาจมีรายรับ ภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง ค่าใช้น้ำบาดาล และเงินกู้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (ร่างมาตรา ๑๐๗)
  26. นครสมุยอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม ค่าจ้าง ค่าใช้สอย ค่าสาธารณูปโภค ค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เงินอุดหนุน ค่าชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ รายจ่ายตามข้อผูกพัน และรายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา ๑๐๘)
  27. นครสมุยอาจมีรายได้อื่นดังต่อไปนี้ รายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต เบี้ยปรับ และค่าปรับ รายได้จากทรัพย์สินของนครสมุย สาธารณูปโภคของนครสมุย การพาณิชย์หรือวิสาหกิจของนครสมุย ค่าตอบแทนค่าบริการ เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ รายได้จากทรัพย์สินของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่จัดบริการเพื่อมุ่งกำไรในเขตนครสมุย (ร่างมาตรา ๑๓๐)
  28. ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของนครสมุยสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกนครสมุยชี้แจง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการนครสมุย
  29. ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบความสุจริตและความมีประสิทธิภาพประกอบด้วย กรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่าคนแต่ไม่เกิน ๑๕ คน ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานละ ๑ คน ตัวแทนสถาบันการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน ๑ คน ตัวแทนภาคสื่อมวลชน จำนวน ๑ คน และตัวแทนประชาชนภาคสังคม จำนวน ๓ คน

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

               1. หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

                   1.1 กระทรวงมหาดไทย

                   1.2 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

                   1.3 กระทรวงการคลัง

                   1.4 สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

               2.  นักวิชาการ/อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองท้องถิ่น

               3. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการให้ยกเลิกเทศบาลนครเกาะสมุยและจัดตั้งนครสมุยขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีฐานะเป็นนิติบุคคล
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการบริหารนครสมุยประกอบด้วย สภานคร นายกนครสมุย และคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สภานครสมุย ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน ๒๔ คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนครสมุย โดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นครสมุย มีนายกนครสมุยหนึ่งคนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน ๒ วาระติดต่อกันไม่ได้ และเมื่อดำรงตำแหน่งครบ ๒ วาระแล้วจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกนครสมุยอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนด ๔ ปีนับแต่วันที่ดำรงตำแหน่งครบ ๒ วาระ
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ในการดำเนินการเรื่องใดที่นายกสมุยเห็นว่า อาจกระทบถึงประโยชน์สาธารณะสภาพเศรษฐกิจและสังคม หรือความเป็นอยู่โดยส่วนรวมของประชาชน นายกนครสมุยอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตนครสมุยเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการเรื่องนั้น
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุยประกอบด้วย กรรมการจำนวน ๒๑ คน ได้แก่ กรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากหัวหน้าส่วนราชการสุราษฎร์ธานี และผู้แทนรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกี่ยวข้อกับการพัฒนาพื้นที่นครสมุยด้านการพัฒนาผังเมือง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการขนส่งคมนาคม และด้านสาธารณูปโภค จำนวน ๗ คน ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้แทนชุมชนที่เกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าและการลงทุน ด้านธุรกิจโรงแรมและการบริการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตร และด้านแรงงาน จำนวน ๗ คน ผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ สังคม การผังเมือง ด้านการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคมนาคมและขนส่ง และด้านอื่น ๆ จำนวน ๗ คน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๖ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งได้อีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน ๒ วาระไม่ได้
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนานครสมุย เสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของนครสมุย เสนอแนะต่อสภานครสมุยในการจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของนครสมุยให้เป็นไปตามแผนพัฒนานครสมุยและรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
  8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นครสมุยมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ในเขตนครสมุย และการประกอบกิจการของนครสมุยต้องไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชนเว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมหรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
  9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นครสมุยอาจมีรายได้ รายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต เบี้ยปรับ และค่าปรับ รายได้จากทรัพย์สินของนครสมุย รายได้จากสาธารณูปโภคของนครสมุย เป็นต้น
  10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบความสุจริตและความมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยกรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า ๙ คน แต่ไม่เกิน ๑๗ คน ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานละ ๑ คน ตัวแทนสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคสื่อมวลชน จำนวน ๑ คน และตัวแทนประชาชนภาคสังคม อย่างน้อยจำนวน ๓ คน มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความสุจริตและความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานครสมุย และผู้บริหารนครสมุย รวมทั้งผู้ได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนรวมถึงการทดสอบโดยการวางแผนล่อให้กระทำความผิด