สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวพัชรินทร์ ชำศิริพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เนื่องในปัจจุบันมีการกระทำความผิดทางเพศในหลายรูปแบบ และเป็นการกระทำต่อบุคคลทุกวัย ทุกเพศ รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ  ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "การกระทำชำเรา" เพื่อให้ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดในพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย และเนื่องจากในปัจจุบันปัญหาการคุกคามทางเพศมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายที่มีการกำหนดให้การกระทำในลักษณะดังกล่าวมีความผิดนั้น มีเพียงความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญซึ่งเป็นความผิดฐานลหุโทษและยังไม่ตรงกับลักษณะของการกระทำที่เป็นการคุกคามทางเพศโดยตรง สมควรกำหนดให้การคุกคามทางเพศเป็นความผิดทางอาญา เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดและปรามมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น

สาระสำคัญ

                    ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

                   แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้

                   (1) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "การกระทำชำเรา" โดยกำหนดบทนิยาม "การกระทำชำเรา" หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดของผู้กระทำหรือของผู้อื่นล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้กระทำ (ร่างมาตรา 3)

                   (2) ยกเลิกความผิดฐานอนาจารโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำ อวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคล เนื่องจากเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามการแก้ไขนิยามในร่างมาตรา 3 โดยการยกเลิกมาตรา 278 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ มาตรา 279 วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 281 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 4 ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

                   (3) กำหนดการคุกคามทางเพศให้เป็นความผิดในมาตรา 284/1 และกำหนดให้การคุกคามทางเพศต่อเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี และต่อผู้อื่นโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่นเป็นเหตุฉกรรจ์ในมาตรา 284/1 วรรคสอง และในมาตรา 284/2 (ร่างมาตรา 7)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

                    หน่วยงานของรัฐ

                    1. ศาลยุติธรรม

                    2. สำนักงานอัยการสูงสุด

                    3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                    ภาคเอกชน

                    สภาทนายความ

                   ภาคประชาสังคม

                   1. มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

                   2. มูลนิธิเพื่อนหญิง

                   3. มูลนิธิผู้หญิง

                   4. สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

                   5. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ช่วยเหลือเด็กถูกทำร้าย ทารุณกรรมหรือถูกเอาเปรียบ

                   6. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” โดยกำหนดบทนิยาม “การกระทำชำเรา” หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดของผู้กระทำหรือของผู้อื่นล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้กระทำ (ร่างมาตรา 3)
     
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกความผิดฐานอนาจารโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำ อวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคล เนื่องจากเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามการแก้ไขนิยามในร่างมาตรา 3 โดยการยกเลิกมาตรา 278 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ มาตรา 279 วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 281 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 4 ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)
     
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดการคุกคามทางเพศให้เป็นความผิดในมาตรา 284/1 และกำหนดให้การคุกคามทางเพศต่อเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี และต่อผู้อื่นโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น เป็นเหตุฉกรรจ์ ในมาตรา 284/1 วรรคสอง และในมาตรา 284/2 (ร่างมาตรา 7)
     
  4.  ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)