ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำนาญเพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ที่รัฐจ่ายเงินเป็นรายเดือนไปตลอดช่วงชีวิตของผู้สูงอายุหลายระบบ โดยเป็นการใช้เงินจากงบประมาณในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกคน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้ข้าราชการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น การสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนของครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติอีกทั้งรัฐยังกำหนดเป็นภาคบังคับให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญภายใต้กฎหมายประกันสังคมสำหรับประชาชนทุกคนด้วย แต่การจัดการดังกล่าวยังไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพยามชราแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั้งระบบ ซึ่งการมีหลักประกันรายได้เมื่อสูงอายุถือว่าเป็นสิทธิที่จำเป็น และต้องมีจำนวนที่เพียงพอ เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ รัฐจึงควรจัดให้มีระบบบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ให้ประชาชนที่อายุหกสิบปีบริบูรณ์ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน โดยการสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงอายุเป็นการรับประกันให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญพื้นฐานทุกคน ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพทั้งในระบบและนอกระบบการจ้างงาน จึงสมควรให้มีระบบบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นบำนาญพื้นฐาน และเป็นหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุทุกคน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
1. กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปได้รับบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติกำหนด
2. กำหนดให้การจ่ายเงินบำนาญต้องคำนึงถึงฐานะของผู้ที่จะได้รับประโยชน์และโอกาส
ที่ผู้ขอรับประโยชน์จะได้รับประโยชน์ตามกฎหมายอื่น โดยให้พิจารณากำหนดอัตราบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานทุกสามปี ตามกำหนดเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน โดยให้นายกรัฐมนตรี หรือ
รองนายกรัฐมนตรีซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ และอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งด้านละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และผลงานที่เป็นที่ยอมรับด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐสวัสดิการ จำนวนสองคน เป็นกรรมการ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานเป็นกรรมการและเลขานุการ
4. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน ในการกำหนดนโยบายบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานที่เป็นธรรม จัดทำแผนแม่บทบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานทุกสามปี พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปีตามที่สำนักงานเสนอ กำหนดระเบียบที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุน ระเบียบเกี่ยวกับวิธีการจ่ายบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน การพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน และอัตราการจ่ายบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน ระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำร่างสถานะการเงินและการบริหารกองทุน ระเบียบ เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน กำกับติดตามและตรวจสอบการเบิกจ่ายบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการบูรณาการข้อมูลของระบบบำนาญทุกระบบ
5. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการ
อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้
6. กำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนของคณะกรรมการบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน และคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
7. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็น
นิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้เกี่ยวกับการจ่ายบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานและเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญผู้สูงอายุขั้นฐาน
8. กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุน ที่ได้รับจากรัฐบาลหรือเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ เงินอุดหนุนจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับ และดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน โดยไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
9. กำหนดประเภทกิจการที่สามารถใช้จ่ายเงินจากกองทุน
10. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานประกอบด้วย
ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจำนวนสี่คน จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านการเงินและด้านการบริหารกองทุน อย่างน้อยคนละหนึ่งคนหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของกองทุน เป็นกรรมการโดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานจำนวนสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
11. กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานมีอำนาจหน้าที่บริหาร กองทุน รวมทั้ง ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์และการจัดการกองทุน พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน ระเบียบ รายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนต่อคณะกรรมการ เสนอแนะต่อ คณะกรรมการในการปรับปรุงอัตราบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ออกประกาศเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมาย
12. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานขึ้นในกระทรวงการคลังเรียกว่า“สำนักงานบำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "National Pension Office: NPO มีอำนาจ หน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการให้กับกองทุน คณะกรรมการ คณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญผู้สูงอายุ
ขั้นพื้นฐาน
13. กำหนดให้กองทุนต้องจัดให้มีระบบบัญชีเพื่อบันทึกรายการทางบัญชีและแสดงผล
การดำเนินงานและฐานะการเงินของกองทุนโดยถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป รวมทั้งต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเป็นประจำ โดยให้จัดทำรายงานการเงินเพื่อแสดงผลการดำเนินงาน และฐานะการเงินของกองทุน
14. กำหนดให้การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบ
ที่คณะกรรมการกำหนด