โดยที่ประเทศไทยตั้งอยู่บนภูมิยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในเอเชียและมีชื่อเสียงมาช้านาน มีศักยภาพ เป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก ตั้งอยู่บนศูนย์กลางของอาเซียน มีคาบสมุทรแหลมทองเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เป็นเส้นผ่านทางการค้าและจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเลิศ โดยธรรมชาติ ประกอบกับประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ จุดยุทธศาสตร์เชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลนี้ จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เทคโนโลยีในพื้นที่ห้าจังหวัด กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช การขุดคลองไทยผ่านแผ่นดินห้าจังหวัด จะทำให้ร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าประมาณสามถึงเจ็ดวัน โดยประหยัดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลและประชากรโลกจำนวนสองในสามจะได้รับประโยชน์จากคลองไทยนี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ ของนานาประเทศ และการบริหารจัดการพื้นที่ในรายรอบอาณาบริเวณของห้าจังหวัดดังกล่าวที่แนวคลองไทยพาดผ่าน จำเป็นยิ่งที่จะต้องบริหารในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ของโลกด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การศึกษา และนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลกและเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย จึงจำเป็นจะต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
1) กำหนดให้พื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และพื้นที่ซึ่งกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตขุดคลองไทยและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ เชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นศูนย์กลางท่าเรือขนส่ง พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร จัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้า (ร่างมาตรา 5)
2) กำหนดให้รัฐดำเนินการจัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการขุดคลองไทยและการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่างมาตรา 6)
3) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีประสิทธิภาพ แต่ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของประชาชน (ร่างมาตรา 7 ถึงร่างมาตรา 9)
4) กำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชน (ร่างมาตรา 10)
5) กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบาย มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น (ร่างมาตรา 11)
6) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จัดทำนโยบายและแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการดำเนินการ (ร่างมาตรา 19)
7) กำหนดให้มีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ
ให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ จากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสู่ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูง (ร่างมาตรา 23)
8) กำหนดให้ผู้ว่าการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ร่างมาตรา 24)
9) ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด (ร่างมาตรา 25)
10) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ (ร่างมาตรา 26)
11) กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน
และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่างมาตรา 28)
12) กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารคลองไทย ทำหน้าที่รับผิดชอบ บำรุงรักษาการใช้สอยและการอนุรักษ์ทรัพยากรของลุ่มน้ำคลองไทย (ร่างมาตรา 31)
13) กำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทยมีหน้าที่รับผิดชอบ จัดการ
และการอนุรักษ์ทรัพยากร ของลุ่มน้ำคลองไทย และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 32)
14) กำหนดให้จัดตั้งนคร เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีอาณาเขตในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย สภานคร และนายกนคร (ร่างมาตรา 39 และร่างมาตรา 40)
15) กำหนดให้รัฐตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนนครโดยตรง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของปริมาณงาน และรายได้ของรัฐที่ได้รับจากนครด้วย (ร่างมาตรา 67)
16) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของนายกนคร
โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกนครชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของนายกนครได้ (ร่างมาตรา 70)
17) กำหนดให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในวาระเริ่มแรก (ร่างมาตรา 73)
18) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แต่งตั้งผู้ว่าการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยให้ผู้ว่าการดำเนินการจัดตั้งสำนักงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และในระหว่างที่ยังไม่มีสำนักงาน ให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือส่วนราชการอื่นใดตามที่ผู้ว่าการร้องขอทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ไปพลางก่อน (ร่างมาตรา 74)
19) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แต่งตั้งกรรมการบริหารคลองไทย โดยคัดเลือกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร และให้ดำรงตำแหน่งไปจนกว่าการขุดคลองไทยจะแล้วเสร็จ (ร่างมาตรา 75)
20) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารคลองไทย แต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทย ให้เสร็จโดยเร็ว (ร่างมาตรา 76)
21) กำหนดให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐหรือข้าราชการบำนาญที่อายุไม่เกินหกสิบห้าปีหรือบุคลากรอื่นใดที่ผู้ว่าการขอให้มาปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว ได้รับอัตราค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนในสังกัดเดิมตามที่ผู้ว่าการกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่างมาตรา 77)
22) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ สั่งการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ปฏิบัติหน้าที่สำนักปลัดนครไปพลางก่อน เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 78)