สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ประเทศไทยตั้งอยู่บนภูมิยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในเอเชียและมีชื่อเสียงมาช้านาน มีศักยภาพ
เป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก ตั้งอยู่บนศูนย์กลางของอาเซียน มีคาบสมุทรแหลมทองเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เป็นเส้นผ่านทางการค้าและจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเลิศ
โดยธรรมชาติ ประกอบกับประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์
ซึ่งจุดยุทธศาสตร์เชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลนี้จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาเทคโนโลยีในพื้นที่ห้าจังหวัด กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช การขุดคลองไทยผ่านแผ่นดินทั้งห้าจังหวัด จะทำให้ร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าประมาณสามถึงเจ็ดวัน โดยประหยัดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเล และประชากรโลกจำนวนสองในสามจะได้รับประโยชน์จากคลองไทยนี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของนานาประเทศ และการบริหารจัดการพื้นที่ในรายรอบอาณาบริเวณของห้าจังหวัดดังกล่าวที่แนวคลองไทยพาดผ่าน จำเป็นยิ่งที่จะต้องบริหารในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ของโลกด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การศึกษา และนวัตกรรมใหม่เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลกและเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย จึงจำเป็นจะต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

         1) กำหนดให้พื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และพื้นที่ซึ่งกำหนดโดย
พระราชกฤษฎีกาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ โดยให้มีการขุดคลองบนแผ่นดินเชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย ครบวงจร มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชนตามที่มีกฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 7)

         2) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ มีหน้าที่และอำนาจ ในการกำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา คำแนะน้าข้อเสนอแนะต่าง ๆ แก่กรรมการบริหารและหน่วยงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดหลักเกณฑ์ในการร่วมลงทุนกับเอกชน แต่งตั้งและถอดถอนคณะกรรมการบริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกกำหนดหลักเกณฑ์ ในการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 10)

         3) กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้มีหน้าที่และอำนาจในการรับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบาย ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด (ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 14)

         4) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้
มีผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของสำนักงาน (ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 19)

         5) กำหนดให้มีรองผู้ว่าการตามจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดเพื่อช่วยผู้ว่าการในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้ว่าการมอบหมาย (ร่างมาตรา 20)

         6) กำหนดให้รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ มาจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ ผลประโยชน์จากการลงทุน การประกอบกิจการ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และผลประโยชน์อื่นของสำนักงาน ให้รายได้ที่สำนักงานได้รับจากการดำเนินงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง และเมื่อหักค่าใช้จ่ายของสำนักงานแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นเงินสบทบของกองทุนตามมาตรา 61 (ร่างมาตรา 23)

         7) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้
จัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสำหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ (ร่างมาตรา 28 ร่างมาตรา 29 และร่างมาตรา 31)

         8) กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มา และใช้ประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์
ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ (ร่างมาตรา 33 ร่างมาตรา 34 และร่างมาตรา 35)

         9) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคลซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ (ร่างมาตรา 36)

         10) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบาย สามารถกำหนดให้มีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการ (ร่างมาตรา 38)

         11) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจกำหนดพื้นที่ใดในเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน (ร่างมาตรา 39)

         12) กำหนดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขต และการยุบเลิกเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตโดยให้คณะกรรมการนโยบายประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ร่างมาตรา 41)

         13) กำหนดให้ผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นขอบหรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ร่างมาตรา 42)

         14) กำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำสั่งของผู้ว่าการ โดยผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือขอจดทะเบียนหรือแจ้งตามมาตรา 42 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของผู้ว่าการได้ (ร่างมาตรา 43)

         15) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษส่งเงินบำรุงกองทุนตามอัตรา หลักเกณฑ์  และเงื่อนไขที่สำนักงานประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย (ร่างมาตรา 46)

         16) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การกำหนดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายจะกำหนดให้แตกต่างกันก็ได้โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง (ร่างมาตรา 47 ถึง ร่างมาตรา 60)    

         17) กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ขุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ (ร่างมาตรา 61 ถึง ร่างมาตรา 64)

         18) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานโดยจะสั่งให้สำนักงานชี้แจงข้อเท็จจริง หรือทำรายงานก็ได้ (ร่างมาตรา 65)

         19) กำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทยเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ การจัดการ การบำรุงรักษา การใช้สอยและการอนุรักษ์ทรัพยากรของลุ่มน้ำคลองไทย และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทยเป็นผู้บังคับบัญชา (ร่างมาตรา 66)

         20) กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารคลองไทย มีหน้าที่และอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนผู้บริหาร กำหนดเงินเดือนของผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทย ดำเนินตามนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบาย สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างผลกำไรของคลองไทย กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทย ออกระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ (ร่างมาตรา 67 ร่างมาตรา 68 ร่างมาตรา 71 ร่างมาตรา 76 แสะร่างมาตรา 77)

         21) กำหนดให้จัดตั้งนครเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินการโดยสภานครและนายกนคร อายุของสภานครกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง สมาชิกภาพของสมาชิกเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง (ร่างมาตรา 79 ถึง ร่างมาตรา 83)

         22) กำหนดให้สภานครเลือกสมาชิกเป็นประธานสภานครคนหนึ่งและรองประธานสภานครจำนวนสองคน แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประธานสภานครมีหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นให้เป็นไปตามข้อบังคับนคร ให้มีปลัดนครทำหน้าที่แลขานุการสภานคร มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการจัดประชุมและงานอื่นใดตามที่สภานครมอบหมาย (ร่างมาตรา 88 ร่างมาตรา 92 และร่างมาตรา 94)

         23) กำหนดให้สภานครมีอำนาจตราข้อบังคับ และกิจการอื่นอันเป็นหน้าที่ของสภานคร (ร่างมาตรา 105)

         24) กำหนดให้นครเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ มีนายกนครเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนคร โดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับมีวาระอยู่ในตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งแต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ โดยนายกนครมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบการบริหารราชการของนครให้เป็นไปตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 107 ร่างมาตรา 109 และร่างมาตรา 112)

         25) กำหนดให้นายกนครควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของนครและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานนครและลูกจ้างนคร โดยนครแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักปลัดนครและส่วนราชการอื่นตามที่นายกนครประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี และให้มีปลัดนครคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานนครและลูกจ้างนคร รองจากนายกนคร (ร่างมาตรา 118 ร่างมาตรา 119 และร่างมาตรา 120)

         26) กำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกนคร รองนายกนครและพนักงานนคร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 125)

         27) กำหนดให้นครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเขตนครในเรื่องต่างๆ เช่น การรักษาความสงบ
ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การวางผังเมืองที่อยู่อาศัย การจราจร โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 126 และร่างมาตรา 127)

         28) กำหนดให้นครมีอำนาจตราข้อบัญญัติ ซึ่งจะกำหนดโทษจำคุก หรือโทษปรับหรือทั้งจำและปรับได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้  (ร่างมาตรา 134)

         29) กำหนดให้ร่างข้อบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกนคร สมาชิกสภานคร หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนคร ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ในกรณีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกจะเสนอได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกนคร ให้ประธานสภานครส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายพิจารณา หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นขอบด้วยแต่สภานครมีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภานครแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้นายกนครลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป (ร่างมาตรา 135 และร่างมาตรา 141)

         30) กำหนดให้ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และอากรการฆ่าสัตว์ ในเขตนครให้นครจัดเก็บเป็นรายได้ของนคร และให้นครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียม (ร่างมาตรา 144  ร่างมาตรา 146 และร่างมาตรา 147)

         31) กำหนดให้นครสามารถมีรายได้อื่นได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังร่วมกันได้ (ร่างมาตรา 153)

         32) กำหนดให้นครมีรายจ่าย ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เงินอุดหนุน รายจ่ายตามข้อผูกพัน และรายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติหรือข้อบัญญัติกำหนด (ร่างมาตรา 155)

         33) กำหนดให้การจ่ายเงินของนคร ให้เป็นไปตามที่ได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การจ่ายเงินที่มิได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็น แต่ต้องรายงานให้สภานครทราบ และงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อการใดจะโอนไปเพื่อใช้จ่ายสำหรับการอื่นไม่ได้เว้นแต่จะมีข้อบัญญัติให้โอนได้ (ร่างมาตรา 156)

         34) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของนายกนคร
โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกนครชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการได้ คำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตนครหรือประโยชน์ของประเทศ นายกรัฐมนตรีจะสั่งยุบสภานครก็ได้ (ร่างมาตรา 158 ร่างมาตรา 159และร่างมาตรา 162)

         35) กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการนโยบายที่มาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งหรือเคยได้รับการแต่งตั้งจากประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการนโยบายจำนวนยี่สิบเจ็ดคน โดยให้คณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวเป็นผู้คัดเลือกกันเองโดยให้ดำรงตำแหน่งไปจนกว่าการขุดคลองไทยจะแล้วเสร็จ (ร่างมาตรา 164)

         36) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งกรรมการบริหารคลองไทยจำนวนยี่สิบเจ็ดคน
โดยพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งจากประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และให้กรรมการบริหารคลองไทยดำรงตำแหน่งไปจนกว่าการขุดคลองไทยจะแล้วเสร็จ (ร่างมาตรา 166)

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  นายกรัฐมนตรี
  2.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  3.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  4.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  5.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  6.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  7.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  8.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  9.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  10.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  11.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  12.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  13.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  14.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  15.   กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
  16.   กรมโยธาธิการและผังเมือง
  17.   สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  18.   สำนักงบประมาณ
  19.   สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  20.   ภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  21.   สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  22.   สมาคมธนาคารไทย
  23.   ประชาชนในจังหวัดกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา
  24.   องค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา
  25.   คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  26.   คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ
  27. ภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้พื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา
และที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ ให้มีการขุดคลอง
เชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย ครบวงจร มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

         2) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล ให้คำปรึกษาแก่กรรมการบริหารและหน่วยงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการตามที่กำหนดไว้
ในพระราชบัญญัตินี้ และให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการนโยบาย มีผู้ว่าการและรองผู้ว่าการรับผิดชอบในการดำเนินงาน

         3) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ มาจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ ผลประโยชน์จากการลงทุน
การประกอบกิจการ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และผลประโยชน์อื่นของสำนักงาน โดยให้รายได้
ที่สำนักงานได้รับจากการดำเนินงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง และเมื่อหักค่าใช้จ่ายของสำนักงานแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นเงินสบทบของกองทุนตามมาตรา 61

         4) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ จัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสำหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้

         5) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาและใช้ประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้

         6) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต หรือให้สัมปทานแก่บุคคลซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสามารถกำหนดให้มีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้จากผู้ประกอบกิจการ ตลอดจนมีอำนาจกำหนดพื้นที่ในเขตให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

         7) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขต และการยุบเลิกเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตโดยให้คณะกรรมการนโยบายประกาศในราชกิจจานุเบกษา

         8) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ ออกใบอนุญาต หรือเป็น
ผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และให้มีหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำสั่งของผู้ว่าการ

         9) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คณะกรรมการนโยบาย มีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษส่งเงินบำรุงกองทุน ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย

         10) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งจะกำหนดโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง

         11) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ขุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้

         12) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจกำกับโดยทั่วไป
ซึ่งกิจการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายโดยจะสั่งให้สำนักงานชี้แจงข้อเท็จจริงหรือทำรายงานได้

         13) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทย
มีหน้าที่จัดการ อนุรักษ์ทรัพยากรของลุ่มน้ำคลองไทย และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทยเป็นผู้บังคับบัญชา (ร่างมาตรา 66)

         14) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารคลองไทย มีหน้าที่และอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอน กำหนดเงินเดือนของผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทย รวมถึงดำเนินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย สร้างความสามารถในการแข่งขัน กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเลขาธิการคณะกรรมการบริหารคลองไทย ออกระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ

         15) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้จัดตั้งนครเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งดำเนินการโดยสภานครและนายกนคร รวมถึงให้สภานครมีอำนาจตราข้อบังคับได้

         16) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นครเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ มีนายกนคร
ซึ่งเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนคร มีวาระสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบการบริหารราชการ เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานนครและลูกจ้างนคร โดยนครแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักปลัดนครและส่วนราชการอื่นตามที่นายกนครประกาศโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี และให้มีปลัดนคร
เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานนครและลูกจ้างนคร รองจากนายกนคร

         17) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกนคร รองนายกนครและพนักงานนคร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

         18) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นครมีอำนาจหน้าที่ในเขตนคร เช่น การรักษาความสงบส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การวางผังเมือง การจราจร โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนมีอำนาจตราข้อบัญญัติกำหนดโทษจำคุก หรือโทษปรับหรือทั้งจำ
และปรับได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้

         19) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ร่างข้อบัญญัตินคร จะเสนอได้ก็แต่โดยนายกนคร
สมาชิกสภานคร หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนคร ในกรณีเป็นข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกจะเสนอได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกนคร

 

         20) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย
และอากรการฆ่าสัตว์ในเขตนคร ให้นครจัดเก็บเป็นรายได้ของนคร และให้นครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียม รวมทั้งกำหนดให้นครสามารถมีรายได้ทางอื่นได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง

         21) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นครมีรายจ่าย ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน
ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เงินอุดหนุน รายจ่ายตามข้อผูกพัน และรายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติหรือข้อบัญญัติกำหนด การจ่ายเงินที่มิได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ
ให้กระทำได้กรณีฉุกเฉินและจำเป็น แต่ต้องรายงานให้สภานครทราบ และงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อการใดจะโอนไปเพื่อใช้จ่ายสำหรับการอื่นไม่ได้เว้นแต่จะมีข้อบัญญัติให้โอนได้

         22) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของนายกนคร โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกนครชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการได้ คำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีให้เป็นที่สุดและนายกรัฐมนตรีจะสั่งยุบสภานครก็ได้

         23) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการนโยบายที่มาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
สภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งหรือเคยได้รับการแต่งตั้งจากประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการนโยบายจำนวนยี่สิบเจ็ดคน โดยให้คณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวเป็นผู้คัดเลือกกันเอง โดยให้ดำรงตำแหน่งไปจนกว่าการขุดคลองไทยจะแล้วเสร็จ

         24) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งกรรมการบริหารคลองไทย
โดยพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งจากประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และให้กรรมการบริหารคลองไทยดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าการขุดคลองไทยจะแล้วเสร็จ