ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
โดยที่บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการยุยงประชาชนซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กำหนดขอบเขตการคุ้มครองรัฐหรือกำหนดขอบเขตคุณธรรมทางกฎหมายที่กว้างขวางเกินไปขาดความชัดเจนในตัวบทบัญญัติ เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายจึงเกิดการตีความเกินความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมขึ้น และเป็นบทบัญญัติที่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย สมควรแก้ไขปรับปรุงให้การบังคับการใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีขอบเขตเหมาะสม ชัดเจน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
- กำหนดความชัดเจนของลักษณะการกระทำที่เป็นการยุยงประชาชนอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
- กำหนดรับรองการกระทำที่เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มิให้เป็นการกระทำความผิด
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงยุติธรรม
- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- สำนักงานศาลยุติธรรม
- สำนักงานอัยการสูงสุด
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประชาชนทั่วไป
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- เห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้การกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่นหรือประชาชน หรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
- เห็นด้วยหรือไม่ที่กำหนดให้การกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่นหรือประชาชน หรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ถ้าการกระทำนั้นเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หรือการแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต ไม่เป็นการกระทำความผิดตามมาตรานี้