ให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. กำหนดบทนิยาม
“การทรมาน” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าด้วยประการใดอันก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่กายหรือจิตใจต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อ
(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือ
(2) ลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่า
ได้กระทำ หรือ
(3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือ
(4) เพราะเหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
ทั้งนี้ไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอันเป็นผลปกติจาก หรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย
“การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าด้วยประการใดอันก่อให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มิใช่การทรมาน ทั้งนี้ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติจาก หรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย
“ควบคุมตัว” หมายความรวมถึง การจับ คุม ขัง ลักพา กักตัว คุมขัง กักขัง เรียกตัวหรือเชิญตัวบุคคลไปสอบถามหรือซักถาม หรือกระทำด้วยประการอื่นใดอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกาย
“การกระทำให้บุคคลสูญหาย” หมายความว่า การควบคุมตัวหรือการกระทำด้วยประการใด
โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับคำสั่ง การสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และได้มีการปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นหรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกัน
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย
ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึงสามีภริยา คู่ชีวิต ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยของบุคคลดังกล่าว
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ประกอบด้วย
(1) ผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจำนวนสองคน
(2) ผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจำนวนสองคน
(3) ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการทรมาน
การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจำนวนสองคน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิโดยพิจารณาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย ด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ด้านนิติเวชศาสตร์ จำนวนสามคนโดยให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการด้วย
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาในการเลือกกรรมการแต่ละครั้ง ประกอบด้วย
(1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน
(2) อัยการสูงสุด
(3) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยและมีการดำเนินกิจการเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือมุ่งค้าหากำไรจากการดำเนินกิจการดังกล่าวแห่งละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน
(4) ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเก้าคนโดยมาจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจำนวนสี่คน และพรรคการเมืองฝ่ายค้านจำนวนห้าคน
(5) ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเลือกกันเองกิจการละหนึ่งคนรวมเป็นสามคนโดยให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นเลขานุการ
4. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เช่น
(1) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมาตรการที่จำเป็นตามพระราชบัญญัตินี้
(2) กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการป้องกันการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
(3) กำหนดนโยบาย และมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหายอย่างครอบคลุม ซึ่งหมายรวมถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิม การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เพียงพอ การบำบัดและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
(4) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายทั้งทางการเงิน และทางจิตใจ ตลอดรวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้กับผู้เสียหาย โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
(5) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดซ้ำ มาตรการป้องกันมิให้มีการปกปิด
การควบคุมตัวบุคคล และมาตรการคุ้มครองพยานให้กับผู้แจ้งข้อมูลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(6) ติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย สนับสนุนช่วยเหลือผู้เสียหายด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำทางกฎหมาย ด้านทนายความ ด้านการตรวจทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ทางคดี ด้านการติดตามความคืบหน้าของคดี ด้านการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายทางร่างกายและจิตใจ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ
(7) ติดตามดูแล อำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการสืบสวนสอบสวนที่รวดเร็วและเป็นธรรม ขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อประโยชน์แห่ง
ความยุติธรรม รวมถึงมีอำนาจร้องขอให้มีการยุติการทรมานตามนัยพระราชบัญญัตินี้และร้องขอให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(8) แจ้งให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลรายงานชี้แจงส่งข้อมูลหรือเอกสารพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันปราบปราม
การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
(9) ตรวจเยี่ยมหน่วยงานหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวได้โดยไม่จำต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า รวมถึงให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(10) ติดตามตรวจสอบการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายได้เองแม้ไม่มีผู้ร้องเรียน และสามารถรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ระบุชื่อผู้ร้องได้
โดยหากปรากฏว่าผู้ใดฝ่าฝืน (8) (9) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
5. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำทรมาน โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงสามสิบปีหรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
6. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงสามสิบปีหรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึง
หนึ่งล้านบาท
7. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
8. กำหนดบทเพิ่มโทษ กรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความป่วยเจ็บ และกำหนดบทลดโทษ กรณีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกบังคับให้สูญหาย โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี
9. กำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการยุยง ส่งเสริม รู้เห็นเป็นใจ ให้ความยินยอม ในลักษณะเป็นผู้สมคบ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระทำการตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระทำการอื่นใดในทำนองเดียวกันเพื่อให้เกิดความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
10. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือยุติการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
11. กำหนดให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และมิให้อ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคงของรัฐ หรือสถานการณ์พิเศษใด เพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
12. กำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งตัวบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะส่งผลให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
13. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต้องแจ้งการควบคุมดังกล่าวต่อนายอำเภอและพนักงานอัยการแห่งท้องที่ที่มีการควบคุมตัวทราบทันที โดยต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวและแจ้งสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว ญาติ บุคคล หรือคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เปิดเผยข้อมูลที่บันทึกไว้ดังกล่าวได้
14. กำหนดให้ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานฝ่ายปกครอง คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ และบุคคลอื่นใด มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลอาญาหรือศาลยุติธรรมแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยเมื่อได้รับคำร้องขอ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยทันที และหากเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลโดยพลัน รวมถึงมีคำสั่ง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทันที ให้ยุติการทรมาน หรือการกระทำที่โหดร้าย
ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว ให้เยียวยาเบื้องต้นทางด้านการเงิน เป็นต้น
15. กำหนดให้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาเนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
16. กำหนดให้ผู้พบเห็น หรือทราบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง หรือพนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า
และบุคคลซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความหรือร้องเรียนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ย่อมได้รับความคุ้มครองภายใต้มาตรการซึ่งคณะกรรมการกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้รวมถึงจากการถูกดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง แม้หากภายหลังปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งด้วย
17. กำหนดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย แม้บุคคลนั้นจะถูกกระทำให้สูญหายไปก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับด้วย
18. กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีอายุความ
19. กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้ง
มีอำนาจเข้าตรวจสอบควบคุมการสอบสวนซึ่งดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนทุกหน่วยทันที และการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และบทบัญญัติมาตรา 21/1 ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษไม่นำมาใช้บังคับกับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
20. กำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ