สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง
ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เสนอเพื่อกำหนดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์
ขึ้นไปเพื่อเป็นหลักประกันรายได้โดยมีจำนวนที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ซึ่งรัฐต้องดำเนินการจัดสรรและจ่ายเงินจากเงินกองทุนบำนาญแห่งชาติ

กำหนดให้มีคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการที่มาจากภาครัฐ
ผู้แทนองค์กรเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดนโยบายบำนาญแห่งชาติที่เป็นธรรม จัดทำแผนแม่บทบำนาญแห่งชาติ พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปีตามที่สำนักงานเสนอ กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุน ระเบียบเกี่ยวกับวิธีการจ่ายบำนาญแห่งชาติ การพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินบำนาญแห่งชาติ และอัตราการจ่ายบำนาญแห่งชาติ ระเบียบเกี่ยวกับวิธีการจ่ายบำนาญแห่งชาติ การพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินบำนาญแห่งชาติ และอัตราการจ่ายบำนาญแห่งชาติ ระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุน ระเบียบเกี่ยวกับการรับเงินการจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน กำกับติดตามและตรวจสอบการเบิกจ่ายบำนาญแห่งชาติส่งเสริมสนับสนุน และประสานการบูรณาการข้อมูลของระบบบำนาญทุกระบบ สรุปสถานการณ์ปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไข โดยจัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ออกระเบียบ ประกาศคำสั่ง หรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ สรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญแห่งชาติ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนด

กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการที่มาจากภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อบริหารกองทุน รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุน พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินบำนาญแห่งชาติตามระเบียบ รายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนต่อคณะกรรมการ เสนอแนะต่อคณะกรรมการในการปรับปรุงอัตราบำนาญแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ออกประกาศเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ของกองทุน และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติ  ทังนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติอาจมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่เห็นสมควรจัดการเงินของกองทุนได้

กำหนดให้มีสำนักงานบำนาญแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง โดยมีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับงานธุรการให้กับกองทุน คณะกรรมการ คณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ รับคำขอรับบำนาญแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติพิจารณาอนุมัติ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับบำนาญแห่งชาติที่เป็นจริงและรายงานการเปลี่ยนแปลงผู้มีสิทธิรับบำนาญแห่งชาติทุกเดือน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติพิจารณาอนุมัติ จัดทำงบประมาณบำนาญแห่งชาติรายปีและงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการสำนักงาน ประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ  ในการดำเนินงานของกองทุน รับเงินจ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินของกองทุนตามระเบียบ จัดทำบัญชี รายงานผลการใช้จ่ายเงินและการปฏิบัติงานประจำปีของกองทุน พัฒนาระบบการเบิกจ่ายบำนาญแห่งชาติ รูปแบบ วิธีการ และการให้บริการของกองทุนจัดทำฐานข้อมูลระบบบำนาญกลาง และปฏิบัติการอื่นหรือกระทำกิจการตามที่ได้รับมอบหมาย

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กระทรวงการคลัง
  2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  3. กระทรวงแรงงาน
  4. กรมบัญชีกลาง
  5. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  6. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  7. สำนักงบประมาณ
  8. สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ
  9. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  10. ธนาคารแห่งประเทศไทย
  11. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. สมควรกำหนดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ โดยให้ครอบคลุมบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปทุกคนหรือไม่
  2. สมควรกำหนดให้มีการจ่ายบำนาญให้จ่ายจากกองทุน โดยคำนึงถึงรายได้ที่จะใช้จ่ายในการซื้อสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพของผู้ที่จะเป็นผู้รับบำนาญ ฐานะ และสิทธิหรือประโยชน์ที่ได้รับบำนาญตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นหรือตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่
  3. สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือไม่
  4. สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่มาจากภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือไม่
  5. สมควรกำหนดให้มีสำนักงานบำนาญแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลให้อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงการคลังโดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือไม่
  6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)