สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายระวี มาศฉมาดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศ มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายที่ภาครัฐประกาศและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ขาดการยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น บางครั้งก็มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมากเกิดการบาดเจ็บล้มตายผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ลงท้ายด้วยการจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกลงสู่สังคมไทยทุกระดับ

          ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและวัฒนธรรม การกระทำต่าง ๆ ของผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ล้วนแต่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสกับประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในซาติ เพื่อให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

          ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

          1. กำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง (ร่างมาตรา 3)

          2. กำหนดให้ผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง (ร่างมาตรา 4)

          3. กำหนดให้การกระทำผิดตามมาตรา 3 ก่อให้เกิดความเสียหายทางแพ่งแก่หน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายทางแพ่งนั้นเป็นอันระงับไป (ร่างมาตรา 5)

          4. กำหนดให้การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย (ร่างมาตรา 6)

          5. กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม (ร่างมาตรา 7)

          6. กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ห้ามไม่ให้ศาลรอลงอาญา หรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคดีที่กระทำความผิดภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว (ร่างมาตรา 8)

          7. กำหนดให้มีบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในการกระทำผิดทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

          1. ผู้ต้องหา โจทก์และจำเลยในคดีฯ ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

          2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          3. ศาลยุติธรรม

          4. สำนักงานอัยการสูงสุด

          5. กระทรวงยุติธรรม

          6. กรมราชทัณฑ์

          7. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          8. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

          9. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

          1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดชื่อร่างพระราชบัญญัติ ว่า "พระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ...." (ร่างมาตรา 1)

          2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการบังคับใช้พระราชบัญญัติตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ร่างมาตรา 2)

          3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตามที่ระบุในบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง แต่ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ร่างมาตรา 3)

          4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น (ร่างมาตรา 4)

          5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางแพ่งแก่หน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายทางแพ่งนั้นเป็นอันระงับไป และหากมีการดำเนินคดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีไปแล้วเพียงใดก็ให้การบังคับคดีนั้นสิ้นสุดลง และให้คืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดแก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมโดยเร็ว ถ้าอยู่ระหว่างการบังคับคดีก็ให้ยกเลิกการบังคับคดีนั้น (ร่างมาตรา 5)

          6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการนิรโทษกรรมไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย (ร่างมาตรา 6)

          7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม โดยมีจำนวนไม่เกิน 7 คน ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ (ร่างมาตรา 7)

          8. ท่านเห็นด้วยกับหน้าที่และวาระของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ (ร่างมาตรา 7)

          9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลรอลงอาญา หรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคดีที่กระทำความผิดภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว (ร่างมาตรา 8)

          10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 9)

          11. ท่านเห็นด้วยกับบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... หรือไม่

          12. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)