Untitled Document

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player


นำเสนอมุมมองสมาชิกรัฐสภาและนักวิชาการต่อประเด็นทางการเมืองและกฎหมาย











(เริ่มนับ 1 ต.ค. 55)

 




Untitled Document

 

รู้จักรัฐสภา

พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้เป็นที่รับรองแขกเมืองและใช้สำหรับประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ในการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง นายมาริโอ ตามาโย สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นนายช่างออกแบบ ศาสตราจารย์ แกลิเลโอ คินี และนายซี. ริกุลี เป็นช่างเขียนภาพ

องค์พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างด้วยหินอ่อนจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็ก ๆ โดยรอบอีก ๖ โดม ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แบ่งเป็น ท้องพระโรงหน้าและท้องพระโรงหลัง บนเพดานโดมของพระที่นั่ง มีภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่ ที่สวยงามจำนวน ๖ ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๖ ได้แก่
   - เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร
   - เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ
   - เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วย พระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่าง ๆ แสดงนัยแห่งพระราชจรรยา ที่ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา
   - เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงเลิกประเพณีทาส
   - เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔
   - เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึก พระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ รวมเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๘ ปี งบประมาณค่าก่อสร้างตามราคาในสมัยนั้น คิดเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท - ๒ - เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระที่นั่งอนันตสมาคมจึงเป็นอาคารรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญต่าง ๆ อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เป็นต้น


รัฐสภา  สำหรับรัฐสภาของประเทศไทย กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และมีการเปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาเมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากร ที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า

โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ใช้งบประมาณ 51,027,360 บาท จากนั้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต และทำการคัดเลือกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ไปตั้งแต่ปลายปี 2552 แล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร แถลงถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยระบุว่าขณะนี้การเตรียมการทุกอย่างดำเนินการไปเกือบ 90% โดยใช้งบประมาณราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ และตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบในรายละเอียดพื้นที่ใช้สอยให้ได้ประโยชน์ สูง สุด 3 แสนตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายปี 2553 และเปิดประมูลได้ในต้นปี 2554 ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดใช้ได้ภายในปี 2556 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 900 วัน นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง หรืออาจจะเร็วกว่านั้น



รู้จักผู้บริหารฝ่ายการเมือง

รู้จักผู้บริหารฝ่ายข้าราชการสามัญ

- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

- สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

 

 

 

คณะกรรมการการสื่อสารทางการเมือง
ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร 022441000
© 2012 Creative Space for Diliberative Democracy. Allright reserved.