null

 

FONTSIZE

สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union)

ประวัติความเป็นมา

สหภาพรัฐสภา (IPU) เป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ โดยเริ่มจากในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๙ ความคิดเห็นในการเรียกร้องให้มีการประชุมระหว่างมวลสมาชิกแห่งรัฐสภาเกี่ยวกับงานสันติภาพและความเข้าใจอันดี ซึ่งกันและกันได้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป โดยมีความเข้าใจว่าการประชุมร่วมกันนี้จะเป็นทางหนึ่งที่จะขจัดข้อขัดแย้งที่อาจจะมีขึ้นและนำความสงบสุขมาสู่โลก

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศในลักษณะดังกล่าวขึ้นที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างสมาชิกรัฐสภา คือ เซอร์วิลเลียม แรนเดล ครีเมอร์ (Sir William Randal Cremer)ชาวอังกฤษ กับนายเฟรเดริค ปาสซี (Frédéric Passy) ชาวฝรั่งเศส และยังมีสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ๗ คน กับสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสอีก ๒๕ คน เข้าร่วมใน การประชุมดังกล่าวด้วย รูปร่างของการประชุมระหว่างรัฐสภาได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ และ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๒  ณ กรุงปารีส โดยมีสมาชิกแห่งรัฐสภา ๙๕ คน จากประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม เดนมาร์ก ฮังการี อิตาลี ไลบีเรีย สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม ๙ ประเทศ เข้าร่วมในการประชุม

มติแรกของการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑ มีว่า “การดำเนินงานของรัฐสภาทั้งหลายนั้น รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ห่างจากความคิดเห็นของประชาชนไปทุก ๆ ที ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนปวงชนที่ได้รับการเลือกขึ้นมาจะได้ทำหน้าที่ของตนเกี่ยวกับงานของนโยบายในการที่จะนำประเทศของตนไปสู่ความยุติธรรม  การนิติบัญญัติและภราดรภาพ”

จากการประชุมครั้งแรก หลักการในการที่จะจัดตั้งสหภาพรัฐสภาได้มีรูปร่างขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยอีกห้าปีถัดมาจึงได้มีการยกร่างธรรมนูญของสหภาพ และในการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๕ ณ กรุงเบอร์น สมาพันธรัฐสวิส ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ที่ประชุมฯ ได้จัดตั้งสำนักงานกลางชื่อว่า “สำนักงานสหภาพระหว่างรัฐสภาเพื่อตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศ” และในการประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ธรรมนูญของสหภาพรัฐสภาได้รับการรับรองจากบรรดาสมาชิกของสหภาพรัฐสภา

สำหรับการดำเนินงานของสหภาพรัฐสภา แม้จะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกทั้งสองครั้งเป็นอย่างมาก แต่ยังคงดำเนินต่อไปด้วยดี และหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สำนักงานกลางสหภาพรัฐสภา ณ นครเจนีวา ได้ดำเนินการ เพื่อรักษาโครงงานของสหภาพรัฐสภาให้คงอยู่ต่อไป การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งแรกภายหลังสงครามครั้งนั้น คือการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๓๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และต่อจากนั้นสหภาพรัฐสภาได้จัดให้มีการประชุมกันทุกปีเรื่อยมา การประชุมสหภาพรัฐสภาครั้งแรกในทวีปเอเชีย คือ การประชุมใหญ่ประจำปีของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๔๕ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ และการประชุมสหภาพรัฐสภาในทวีปอเมริกาใต้เป็นครั้งแรก คือ การประชุมใหญ่ประจำปีของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๔๗ ณ นครริโอเดอจาเนโร สหพันธ์-สาธารณรัฐบราซิล

วัตถุประสงค์

สหภาพรัฐสภาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการประชุมรัฐสภานานาชาติมานับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๔๒ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการเพื่อสันติสุขและความร่วมมือระหว่างประชาชน และเพื่อการจัดตั้งสถาบันที่มั่นคงของผู้แทนปวงชน การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ดังกล่าว สหภาพรัฐสภาจึงมีภารกิจในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 ๑. ส่งเสริมการติดต่อ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรัฐสภาและสมาชิกของรัฐสภาทั่วโลก
 ๒. พิจารณาประเด็นปัญหาในระดับนานาชาติและหาข้อมติในประเด็นดังกล่าวโดยมุ่งประสงค์ถึงการมีส่วนร่วมของรัฐสภาและสมาชิกแห่งรัฐสภานั้น ๆ
 ๓. สนับสนุนการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบกติกาสากลโดยตระหนักว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
 ๔. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาที่มั่นคงของผู้แทนประชาชน

นอกจากนี้ สหภาพรัฐสภายังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดภายใต้วัตถุประสงค์ร่วมกันกับองค์การสหประชาชาติและได้ประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

ประธานสหภาพรัฐสภา

ประธานสหภาพรัฐสภาคนปัจจุบันซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยคณะมนตรบริหารสหภาพรัฐสภาในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๙ ณ นครเจนีวา เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ คือ นาย Theo-Ben Gurirab ประธานรัฐสภานามิเบีย ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี (ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ - ตุลาคม ๒๕๕๔)

โครงสร้าง

สหภาพรัฐสภาเป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยรัฐสภาของประเทศที่มีอธิปไตยโดยสมบูรณ์หรือรัฐสภาที่จัดตั้งโดยกฎหมายแม่บทแห่งดินแดนซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติโดยได้รับสิทธิและเอกสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวรแห่งสหประชาชาติ

รัฐสภาของแต่ละประเทศจะสามารถจัดตั้งหน่วยประจำชาติในสหภาพรัฐสภาขึ้นได้เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาจะต้องแสดงเจตจำนง และรับข้อผูกพันตามธรรมนูญแห่งสหภาพรัฐสภา คณะมนตรีบริหารจะทำหน้าที่พิจารณาคำขอเข้าเป็นสมาชิกและคำขอกลับเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาและคำขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของสหภาพรัฐสภา รวมทั้งสถานภาพของสมาชิกตามสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศสมาชิกตามที่การระงับ หรือเพิกถอนตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ

โครงสร้างของสหภาพรัฐสภาภายใต้ธรรมนูญสหภาพฯ ประกอบด้วย
 
 ๑. สมัชชาสหภาพรัฐสภา (Assembly)
 ๒. คณะมนตรีบริหาร (Governing Council)
 ๓. คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)
 ๔. สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา (Secretariat of the Inter-Parliamentary Union)

๑. สมัชชาสหภาพรัฐสภา (Assembly)

สหภาพรัฐสภามีการประชุมสมัชชาปีละ ๒ ครั้ง การประชุมครั้งแรกของปีจะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม และการประชุมครั้งที่สองของปีจะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สำหรับสถานที่ประชุมสมัชชาฯ ครั้งแรกของปีนั้นจะจัดขึ้น ณ เมืองหลวงของประเทศภาคี ทั้งนี้เป็นไปตามที่คณะมนตรีบริหารกำหนด ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การประชุม มักจะจัดขึ้นตามนครหลวงของประเทศภาคีภาคพื้นยุโรป แต่หลังจากสงครามโลก ครั้งที่สองแล้ว ก็ได้มีการประชุมหมุนเวียนกันไปตามนครหลวงของประเทศภาคีทั่วทุกภูมิภาคของโลก อนึ่ง สำหรับทวีปเอเชียนั้น การประชุมสมัชชาฯ ครั้งแรก คือ การประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ ๔๕ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ 
  
ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ผู้แทนของรัฐสภาสมาชิกจะได้มาแสดงความคิดเห็น และอภิปรายในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และอื่น ๆ ตามระเบียบวาระการประชุมโดยหลังจากการอภิปรายที่ประชุมสมัชชาจะมีการลงมติในร่างมติเรื่องต่าง ๆ ที่ได้พิจารณาไปซึ่งประเทศสมาชิกจะนำไปปฏิบัติหรือแจ้งให้รัฐบาลทราบต่อไป
 
๒. คณะมนตรีบริหาร  (Governing Council)

คณะมนตรีบริหาร ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิกสหภาพรัฐสภาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนในคณะมนตรีบริหารฯ ประเทศละ ๓ คน ซึ่งมีข้อกำหนดว่าคณะผู้แทนดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาทั้งชายและหญิง และหากประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาชายหรือหญิงเพียงเพศเดียว จำนวนของผู้แทนในคณะมนตรีบริหารที่ประเทศดังกล่าวพึงมีได้ จะถูกจำกัดให้เหลือเพียง ๒ คน ทั้งนี้ ประธานสหภาพรัฐสภาเป็นประธานคณะมนตรีบริหารโดยตำแหน่ง คณะมนตรีบริหารจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันก่อนเริ่มการประชุมสมัชชาครั้งต่อไป การประชุมคณะมนตรีบริหารจะจัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง และประธานอาจเรียกประชุมในวาระพิเศษอื่นได้หากคณะกรรมการบริหารเห็นว่าจำเป็นหรือสมาชิกคณะมนตรีบริหารจำนวน ๑ ใน ๔ ร้องขอ อำนาจหน้าที่ของคณะมนตรี-บริหาร ประกอบด้วย การเลือกประธานและคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา การแต่งตั้งเลขาธิการ-สหภาพรัฐสภา การกำกับดูแลการดำเนินงานของสหภาพรัฐสภาให้เป็นไปตามธรรมนูญของสหภาพรัฐสภา การพิจารณาสมาชิกภาพของสมาชิกสหภาพรัฐสภา การพิจารณากำหนดสถานที่และวันดำเนินการประชุมสมัชชา การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานการประชุมสมัชชาประจำปี การพิจารณากำหนดกิจกรรมการประชุมต่าง ๆ ของสหภาพรัฐสภา และการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาประเด็นปัญหาเฉพาะเรื่องการกำหนดจำนวนและกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญของสหภาพรัฐสภา การรับรองแผนงานและงบประมาณประจำปี การให้ความเห็นชอบรายงานการเงินประจำปี การพิจารณารับเงินและสิ่งของบริจาค การให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขธรรมนูญสหภาพ และภารกิจอื่น ๆ ตามที่ธรรมนูญสหภาพฯ กำหนด

๓. คณะกรรมการบริหาร  (Executive Committee)

คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน ๑๗ คน ได้แก่ ประธานสหภาพรัฐสภาซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง สมาชิกจากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยคณะ-มนตรีบริหาร จำนวน ๑๕ คน และประธานคณะกรรมาธิการประสานงานการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง ทั้งนี้ สมาชิกฯ จำนวน ๑๕ คน ที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาสตรีอย่างน้อย ๓ คน และต้องประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นคณะมนตรีบริหารจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๒ คน สมาชิกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี โดยทุกปีจะมีสมาชิกฯ ที่พ้นจากตำแหน่งเป็นจำนวนอย่างน้อย ๒ คน โดยหมุนเวียนกันไป สมาชิกที่พ้นจากการดำรงตำแหน่งตามเกณฑ์ข้างต้นจะไม่มีสิทธิรับการเลือกตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีกภายในระยะเวลา ๒ ปี

คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารงานของสหภาพรัฐสภา อันได้แก่ การพิจารณาสมาชิกภาพของสมาชิกสหภาพรัฐสภาเพื่อเสนอต่อคณะมนตรีบริหาร การพิจารณาเรียกประชุมคณะมนตรีบริหารในกรณีฉุกเฉิน การกำหนดวันและสถานที่ประชุมและการยกร่างระเบียบวาระการประชุมคณะมนตรีบริหาร การให้ข้อเสนอแนะและพิจารณาบรรจุเรื่องเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมคณะมนตรีบริหาร การเสนอแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปีของสหภาพรัฐสภาต่อที่ประชุมคณะมนตรีบริหาร การรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะมนตรีบริหาร การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสหภาพรัฐสภาเพื่อเสนอต่อคณะมนตรีบริหาร การกำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะมนตรีบริหารและสมัชชาฯ  และปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ตามที่ธรรมนูญสหภาพกำหนด 

๔. สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา (Secretariat of the Inter- Parliamentary Union)

สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ของสหภาพรัฐสภาเพราะเป็น ผู้ดำเนินกิจการของสหภาพรัฐสภาให้มีความต่อเนื่องและเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ มีหน้าที่จัดเก็บเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกจัดทำและจัดเอกสารต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมของสหภาพรัฐสภา รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์การ ส่งเสริมการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพฯ และสนับสนุนกิจกรรมและการมีส่วนร่วมของสมาชิกเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภายังมีหน้าที่ในการสนันสนุนการปฏิบัติงานของประธานสหภาพรัฐสภา ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะมนตรีบริหารและสมัชชาสหภาพฯ จัดเตรียมร่างแผนการดำเนินงานและงบประมาณเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณา และปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ธรรมนูญกำหนด เป็นต้น คณะกรรมการบริหารจะเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารงานของสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา ประกอบด้วย เลขาธิการสหภาพรัฐสภา รองเลขาธิการฯ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เป็นผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานฯ ภายใต้การกำกับดูแลการของเลขาธิการฯ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีบริหาร
สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดย เลขาธิการ-สหภาพรัฐสภาคนปัจจุบัน คือ นายแอนเดอร์ส บี. จอนห์สัน (Anders B. Johnsson) ชาวสวีเดน ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ แต่สามารถรับการแต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีก โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สหภาพรัฐสภาได้จัดตั้งศูนย์เอกสารรัฐสภานานาชาติ (International Centre for Parliamentary Documentation) ขึ้นโดยให้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา งานของศูนย์เอกสาร คือการศึกษา และผลิตเอกสารเกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบรัฐสภาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเอกสารเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของรัฐสภาและการเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ และการจัดให้มีการสัมมนาระหว่างสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา  นักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสถาบันรัฐสภาและประชาธิปไตย

นอกจากการประชุมต่าง ๆ ตามโครงสร้างหลักของสหภาพรัฐสภาที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นสหภาพรัฐสภายังมีการประชุมหลักที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญ ๓ คณะ ซึ่งมีกรอบภารกิจครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสหภาพรัฐสภาและการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี เป็นต้น

๑. คณะกรรมาธิการสามัญของสหภาพรัฐสภา (Standing Committees)

   คณะกรรมาธิการสามัญของสหภาพรัฐสภา ๓ คณะ  ประกอบด้วย

   ๑.๑ คณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Committee on Peace and International Security)
   ๑.๒ คณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลัง และการค้า (Committee on Sustainable Development, Finance and Trade)
   ๑.๓ คณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน  (Committee on Democracy and Human Rights)

คณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะ ประกอบด้วย ประธานและรองประธาน จำนวน ๖ คน ที่เป็นตัวแทนประจำของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ของสหภาพรัฐสภาแต่ละกลุ่ม และสมาชิกสำรอง โดยจะมีรองประธานฯ จำนวน ๑ คน ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ คนที่หนึ่ง ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญนั้น ต้องคำนึงถึงสัดส่วนระหว่างสมาชิกบุรุษและสตรีด้วย

คณะกรรมาธิการแต่ละคณะมีหน้าที่ศึกษาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา และเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการฯ จะต้องแต่งตั้งผู้เสนอรายงานเพื่อยกร่างข้อมติซึ่งเป็นผลการประชุมของคณะกรรมาธิการและเสนอรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ

นอกเหนือจากคณะกรรมาธิการสามัญฯ ข้างต้น สหภาพรัฐสภายังมีการประชุมของคณะกรรมาธิการและคณะทำงานอื่นๆ ด้วย อาทิ  คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา คณะกรรมาธิการว่าด้วยปัญหาตะวันออกกลาง  กลุ่มประสานงานประเด็นปัญคณะผู้เจรจาเพื่อการถอนทหารในไซปรัส คณะกรรมาธิการประสานความร่วมมือของการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในเมดิเตอร์เรเนียน การประชุมกลุ่มหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างชาย-หญิง คณะกรรมาธิการประสานงานสมาชิกรัฐสภาสตรี และคณะกรรมาธิการส่งเสริมกฎหมายเพื่อมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

๒. การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี (Meeting of Women Parliamentarians) 
การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีจะมีขึ้นในโอกาสการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาครั้งแรกของปี โดยคณะกรรมาธิการประสานงานสมาชิกรัฐสภาสตรีจะจัดให้มีการประชุมระหว่างการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ทั้ง ๒ ครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมของการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีและติดตามผลการปฏิบัติตามมติของที่ประชุมฯ ดังกล่าว

การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี มีขึ้นเพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามวาระของสมัชชาโดยเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีและหาแนวทางการพัฒนาแผนงานของสตรีในสหภาพรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาสตรีของประเทศเจ้าภาพจะเลือกประธานในที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี โดยหากประเทศเจ้าภาพไม่มีสมาชิกรัฐสภาสตรีจะให้ประธานคณะกรรมาธิการประสานงานสมาชิกรัฐสภาสตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ แทน และในกรณีที่ประธานคณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธาน-คณะกรรมาธิการฯ คนที่ ๑ หรือ คนที่ ๒ ทำหน้าที่แทนตามลำดับ

คณะกรรมาธิการประสานงานสมาชิกรัฐสภาสตรี ประกอบด้วย ตัวแทนจากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสมาชิกประจำและสมาชิกสำรอง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี กลุ่มภูมิภาคใดที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้วจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนของภูมิภาคนั้นใหม่เพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการฯ  ในส่วนของประเทศไทย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา เคยได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการประสานงานสมาชิกรัฐสภาสตรี ในฐานะตัวแทนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ในการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี จะมีการพิจารณาแต่งตั้ง  Focal Point  ในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานและติดตามการปฏิบัติงานในด้านนั้น ๆ สำหรับหน่วยประจำชาติไทย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็น Focal Point ของ รัฐสภาไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๓


สมาชิกภาพ

ในปัจจุบันสหภาพรัฐสภามีสมาชิก (Members) จำนวน ๑๕๔ ประเทศ ประกอบด้วย ๑) อัฟกานิสถาน ๒) แอลเบเนีย ๓) แอลจีเรีย ๔) อันดอร์รา  ๕) แองโกลา ๖) อาร์เจนตินา ๗) อาร์เมเนีย ๘) ออสเตรเลีย ๙) ออสเตรีย ๑๐) อาเซอร์ไบจาน ๑๑) บาห์เรน ๑๒) เบลารุส ๑๓) เบลเยียม ๑๔) เบนิน ๑๕)โบลิเวีย ๑๖) บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ๑๗) บอตสวานา ๑๘) บราซิล ๑๙) บัลแกเลีย ๒๐) บูร์กินาฟาโซ ๒๑) บุรุนดิ ๒๒) กัมพูชา  ๒๓) แคเมอรูน  ๒๔) แคนาดา ๒๕) เคปเวิร์ด  ๒๖) ชิลี ๒๗) จีน ๒๘) โคลอมเบีย ๒๙) โคโมรอส ๓๐) สาธารณรัฐคองโก  ๓๑) คอสตาริกา ๓๒) โกตดิวัวร์ ๓๓) โครเอเชีย ๓๔) คิวบา ๓๕) ไซปรัส ๓๖) สาธารณรัฐเชค ๓๗) เกาหลีเหนือ ๓๘) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ๓๙) เดนมาร์ก ๔๐) โดมินิกัน ๔๑) เอกวาดอร์ ๔๒) อียิปต์ ๔๓) เอลซัลวาดอร์ ๔๔) เอสโตเนีย ๔๕) เอธิโอเปีย ๔๖) ฟินแลนด์ ๔๗) ฝรั่งเศส ๔๘) กาบอง  ๔๙) แกมเบีย ๕๐) จอร์เจีย  ๕๑) เยอรมนี       ๕๒) กานา ๕๓) กรีก ๕๔) กัวเตมาลา  ๕๕) กินี ๕๖) ฮังการี  ๕๗) ไอซ์แลนด์ ๕๘) อินเดีย ๕๙) อินโดนีเซีย ๖๐) อิหร่าน ๖๑) อิรัก    ๖๒)ไอร์แลนด์ ๖๓) อิสราเอล  ๖๔) อิตาลี  ๖๕) ญี่ปุ่น ๖๖) จอร์แดน  ๖๗) คาซัคสถาน  ๖๘) เคนยา  ๖๙) คูเวต  ๗๐) คีร์กีซสถาน ๗๑) ลาว ๗๒) ลัตเวีย  ๗๓) เลบานอน    ๗๔) เลโซโท  ๗๕) ไลบีเรีย  ๗๖) ลิเบีย  ๗๗) ลิกเตนสไตน์ ๗๘) ลิทัวเนีย  ๗๙) ลักเซมเบิร์ก   ๘๐) มาดากัสกา ๘๑) มาเลเซีย ๘๒) มัลดีฟส์ ๘๓) มาลี ๘๔) มอลตา ๘๕) มอริตาเนีย  ๘๖) มอริเชียส ๘๗) เม็กซิโก  ๘๘) โมนาโก ๘๙) มองโกเลีย  ๙๐) มอนเตเนโกร ๙๑) โมร็อกโก   ๙๒) โมแซมบิก ๙๓) นามิเบีย๙๔) เนปาล ๙๕) เนเธอร์แลนด์ ๙๖) นิวซีแลนด์  ๙๗) นิการากัว  ๙๘) ไนเจอร์ ๙๙) ไนจีเรีย ๑๐๐) นอร์เวย์ ๑๐๑) โอมาน ๑๐๒) ปากีสถาน ๑๐๓) ปาเลา ๑๐๔) ปาเลสไตน์ ๑๐๕) ปานามา ๑๐๖) ปาปัวนิวกินี ๑๐๗) ปารากวัย ๑๐๘) เปรู ๑๐๙) ฟิลิปปินส์  ๑๑๐) โปแลนด์ ๑๑๑) โปรตุเกส ๑๑๒) กาตาร์ ๑๑๓) เกาหลีใต้  ๑๑๔) มอลโดวา ๑๑๕) โรมาเนีย ๑๑๖) รัสเซีย ๑๑๗) รวันดา ๑๑๘) ซามัวร์ ๑๑๙) ซานมารีโน ๑๒๐) เซาโตเมและปรินซิเป   ๑๒๑) ซาอุดิอาระเบีย ๑๒๒) เซเนกัล ๑๒๓) เซอร์เบีย ๑๒๔) เซียราลีโอน ๑๒๕) สิงคโปร์ ๑๒๖) สโลวาเกีย ๑๒๗) สโลวีเนีย ๑๒๘) โซมาเลีย ๑๒๙) แอฟริกาใต้ ๑๓๐) สเปน ๑๓๑) ศรีลังกา ๑๓๒) ซูดาน ๑๓๓) ซูรินาเม  ๑๓๔) สวีเดน ๑๓๕) สวิตเซอร์แลนด์ ๑๓๖) ซีเรีย ๑๓๗) ทาจิกิสถาน ๑๓๘) ประเทศไทย ๑๓๙) มาซิโดเนีย ๑๔๐) ติมอร์เลสเต ๑๔๑) โตโก ๑๔๒) ตูนีเซีย  ๑๔๓) ตุรกี  ๑๔๔) ยูกันดา ๑๔๕) ยูเครน ๑๔๖) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ๑๔๗) สหราชอาณาจักร ๑๔๘) แทนซาเนีย  ๑๔๙) อุรุกวัย  ๑๕๐) เวเนซูเอลา ๑๕๑) เวียดนาม ๑๕๒) เยเมน  ๑๕๓) แซมเบีย และ๑๕๔) ซิมบับเว

หมายเหตุ : ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๑

สมาชิกสมทบ

สหภาพรัฐสภามีสมาชิกสมทบ (Associate Members) ที่เป็นองค์การ-ระหว่างประเทศ ๘ องค์กร ประกอบด้วย ๑) สภาแอนเดียน (Andean Parliament) ๒) สภาอเมริกากลาง (Central American Parliament) ๓)สภานิติบัญญัติแอฟริกาตะวันออก (East African Legislative Assembly) ๔) สภายุโรป (European Parliament : EP)  ๕) คณะกรรมาธิการรัฐสภาระหว่างประเทศของสหภาพเศรษฐกิจและการเงินแอฟริกาตะวันตก (Inter-Parliamentary Committee of the West African Economic and Monetary Union) ๖) สภาประชาคมเศรษฐกิจรัฐแอฟริกาตะวันตก (Parliament of the Economic Community of West African States : ECOWAS)  ๗) สภาลาตินอเมริกา (Latin American Parliament)  ๘) สมัชชารัฐสภาคณะมนตรียุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe)

หมายเหตุ : ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๑

ผู้สังเกตการณ์

องค์การระหว่างประเทศที่ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ (Observers) ในสหภาพรัฐสภา ประกอบด้วย สมัชชารัฐสภาเมดิเตอร์เรเนียน (Parliamentary Assembly of the Mediterranean : PAM) และสถาบันเพื่อประชาธิปไตยและความช่วยเหลือด้านการเลือกตั้งระหว่างประเทศ (International Institute for Democracy and Electoral Assistance : International IDEA)

หมายเหตุ : ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๑

ทิศทางและแนวโน้มของสหภาพรัฐสภา

ทิศทางและแนวโน้มของสหภาพรัฐสภาต่อประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ และความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันมิติรัฐสภาในด้านการต่างประเทศ ได้แก่

๑. ด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

การสร้างเสริมบทบาทของรัฐสภาในการสร้างดุลยภาพระหว่างความมั่นคงของประเทศ  ความมั่นคงของมนุษย์ และเสรีภาพส่วนบุคคล การกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อการลดและต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธทุกรูปแบบตามแนวทางของปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ การสนับสนุนความร่วมมือด้านสันติภาพ การก่อการร้าย และการหาแนวทางเพื่อรับมือกับการคุกคามความมั่นคงด้านต่าง ๆ ตลอดจนความเป็นประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังเห็นว่า รัฐสภาควรมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของมาตรการเพื่อการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
 
๒. ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สหภาพรัฐสภาได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนและพลังงานทดแทน โดยเน้นความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หนี้สิน ความยากจน และการทุจริต โดยยึดตามแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและส่งเสริมรัฐสภาควรมีบทบาทในการตรวจสอบนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของต่างชาติและเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของโลก
 
๓. ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

สหภาพรัฐสภาได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาแรงงานอพยพ การค้ามนุษย์ การเกลียดชังต่างชาติ และสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้รัฐสภามีส่วนในการสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแรงงานอพยพ เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานอพยพและครอบครัว  สนับสนุน การให้สัตยาบันต่อข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองเยียวยาผู้ประสบภัยจากสงคราม  ทั้งนี้ โดยถือว่าการเสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของรัฐสภานานาชาติและสหภาพรัฐสภาในการยุติสถานการณ์เลวร้ายของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้งของปาเลสไตน์โดยสันติวิธีเป็นวาระเร่งด่วนของสหภาพรัฐสภา
นอกจากนี้ สหภาพรัฐสภายังตระหนักถึงความสำคัญของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเน้นการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนพื้นฐานว่าการส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

๔. ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม

สหภาพรัฐสภาได้สนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐสภากับรัฐบาลเอกชน และองค์กร-ระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความโปร่งใส เพื่อความเป็นเอกภาพบนความหลากหลายของวัฒนธรรม ทั้งนี้ สหภาพรัฐสภามีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับองค์การ UNESCO โดยมีการตั้งเครือข่ายผู้รับผิดชอบของประเทศสมาชิก UNESCO เพื่อส่งเสริมบทบาทของรัฐสภาในภารกิจร่วมกันขององค์กร
 
๕. ด้านสิทธิสตรี

สหภาพรัฐสภาสนับสนุนและผลักดันมาตรการเพื่อการส่งเสริมบทบาทของสตรีในทางการเมืองและการมีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐสภาที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย บทบาทของสตรีและสื่อมวลชน ความร่วมมือกับสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสร้างเครือข่ายของสตรีในทางการเมือง
 
๖. ด้านความร่วมมือกับสหประชาชาติ

สหภาพรัฐสภาในฐานะผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติมีสำนักงานผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหภาพรัฐสภาประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก  สหภาพรัฐสภาจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของความร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยสนับสนุนการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และการดำเนินกิจกรรมร่วมกับสหประชาชาติในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเมือง สันติภาพและความมั่นคงด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม ด้านการค้าและการพัฒนา รวมถึงการกำหนดแนวทางในการปฏิรูปองค์กร  นอกจากนี้ สหภาพรัฐสภายังมีกิจกรรมจำนวนมากที่ดำเนินการร่วมกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในกรอบของสหประชาชาติ ได้แก่ UNDP UNESCO UNAIDS UNHCR UNITAR OHCHR UNICEF UNIFEM โดยล่าสุดได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของรัฐสภาในกิจกรรมต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ได้แก่ การเข้าร่วมในการอภิปรายระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วย HIV/AIDS การอนุวัติตามยุทธศาสตร์สหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายสากล  การทบทวนเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และการประชุมระดับโลก ครั้งที่ ๒ ว่าด้วยการเงินการคลังเพื่อการพัฒนา เป็นต้น
 
๗. ด้านความร่วมมือกับองค์การการค้าโลก 

สหภาพรัฐสภาได้ร่วมมือกับสภายุโรป ในการจัดการประชุมรัฐสภาว่าด้วยองค์การการค้าโลก โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมบทบาทของรัฐสภาในด้านการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกและความร่วมมือระหว่างรัฐสภากับองค์การการค้าโลก โดยในการประชุมรัฐสภาว่าด้วยองค์การการค้าโลก เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ ณ นครเจนีวา ที่ประชุมได้พิจารณาถึงประเด็นสำคัญของทิศทางของระบบการค้าพหุภาคีในอนาคต  โดยมีมติเรียกร้องให้รัฐสภามีบทบาทและส่วนร่วมในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาลด้านการค้าระหว่างประเทศ และสนับสนุนนโยบายการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความเสมอภาคและสามารถตรวจสอบได้  นอกจากนี้ ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมรัฐสภาว่าด้วยองค์การการค้าโลก ครั้งที่ ๑๗ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ยังได้ให้ความสำคัญต่อพัฒนาการล่าสุดขององค์การการค้าโลกด้านสินค้าเกษตร และการเปิดตลาดสินค้าภาคอุตสาหกรรมภายใต้กรอบการเจรจารอบโดฮา  ตลอดจนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กระทบต่อการค้า
 
๘. ด้านปฏิรูปสหภาพรัฐสภาและการบริหารองค์กร

สหภาพรัฐสภาส่งเสริมให้มีการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหประชาติ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานขององค์กร สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานของสมัชชาโดยการขยายขอบเขตของการดำเนินการ และให้มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมที่เข้มแข็งในระดับประธานรัฐสภาและผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ  รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภาและสมาคม-เลขาธิการรัฐสภา (ASGP) ในการปรับแนวทางทำงานของสหภาพรัฐสภา และยกระดับสหภาพรัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมือง

สถานที่ติดต่อของสหภาพรัฐสภา

เว็บไซต์ :  http://www.ipu.org

สหภาพรัฐสภา
สำนักงานใหญ่ ณ นครเจนีวา สำนักงานผู้สังเกตการณ์ถาวรของ
สหภาพรัฐสภาประจำองค์การ-สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
Inter-Parliamentary Union
5, Chemin du Pommier
Case postale 330
CH-1218 Le Grand-Saconnex
Geneva, Switzerland
Tel. :  (41.22) 919 4150
Fax :  (41.22) 919 4160
E-mail : 
postbox@mail.ipu.org Office of the Permanent Observer
of the United Nations
220 East 42nd Street-Suite 3102
New York, NY 10017
United States of America
Tel. :  (1212) 557 5880
Fax :  (1212) 557 3954
E-mail : 
ny-office@mail.ipu.org
 

รัฐสภาไทยกับสหภาพรัฐสภา

ประวัติความเป็นมา

ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภาทั้งผ่านทางรัฐบาล และทางรัฐสภาโดยตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางรัฐบาลติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนทางรัฐสภานั้น ประธานคณะมนตรีสหภาพรัฐสภาติดต่อกับประธานรัฐสภาไทย โดยครั้งแรกขอให้รัฐสภาไทยจัดส่งคณะผู้แทนไปสังเกตการณ์การประชุมใหญ่ของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๓๗ ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ แต่ในครั้งนั้นรัฐสภาไทยยังไม่พร้อมจึงไม่สามารถที่จะรับคำเชิญได้ อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะดึงประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภายังคงดำเนินต่อไป เพราะว่าในขณะนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางรัฐสภา แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา ประธานคณะมนตรีและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาต่างก็พยายาม ติดต่อโดยตรงกับประธานรัฐสภาไทยในขณะนั้นคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ทั้งทางส่วนตัวและทางการในที่สุดสหภาพรัฐสภาได้ส่ง นายปอล บาสทิต อดีตรัฐมนตรี ฝรั่งเศส และประธานหน่วยรัฐสภาฝรั่งเศสมาเยือนประเทศไทยในฐานะตัวแทนของสหภาพรัฐสภา และได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีบางท่าน และในการประชุมคณะมนตรีเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ คณะมนตรีได้มีมติให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องไปพิจารณา รัฐสภาได้มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยที่ประชุมเห็นว่าสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กร ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีนโยบายในการที่จะหาลู่ทางเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทุกวิถีทาง ที่ประชุมรัฐสภาจึงได้ตกลงในหลักการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา โดยถือเอารัฐสภาไทยเป็นหน่วยประจำชาติ และสมาชิกแห่งรัฐสภาไทยเป็นสมาชิกของหน่วยโดยตำแหน่งและได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พร้อมกันนั้นทางรัฐบาลก็แปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อตั้งงบสหภาพรัฐสภาในงบของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

ในการประชุมภายในของรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของหน่วยฯ ขึ้นมาตามข้อบังคับ หลังจากที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นไป และในคราวประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพรัฐสภา ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหน่วยประจำชาติไทยเข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา

การถูกระงับการเป็นภาคีของสหภาพฯ

ที่ประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ ๑๑๑ ซึ่งประชุมกันที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ลงมติให้ระงับการเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทยไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการปฏิวัติและยุบสภา

  อย่างไรก็ตาม หน่วยประจำชาติไทยได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ในคราวประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ ๑๑๒ ณ กรุงอาบิดจัน ประเทศโคท์ไอเวอรี่ ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมัยประชุมที่ ๑๖๒ ซึ่งประชุมกันที่รัฐสภาแห่งชาติโคท์ไอเวอรี่ได้พิจารณาการขอกลับเข้าเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทย โดยได้เชิญผู้แทนของคณะผู้แทนหน่วยประจำชาติไทยเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในการนี้  นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยได้ตอบข้อสงสัยของสมาชิกในคณะกรรมการบริหารเป็นที่พอใจ คณะกรรมการบริหารจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับหน่วยประจำชาติไทยกลับเข้าเป็นสมาชิกของ  สหภาพรัฐสภาดังเดิม และยังคงเป็นภาคีแห่งสหภาพฯ อยู่จนกระทั่งบัดนี้

จากการเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา นอกเหนือจากการส่งผู้แทนของรัฐสภาเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ของสหภาพรัฐสภาแล้ว รัฐสภาไทยยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของสหภาพรัฐสภาอีกหลายครั้ง คือ

 ๑. การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๔๙ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙
 ๒. การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๗๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐
 ๓. การประชุมพิเศษของสหภาพรัฐสภา เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ 
 ๔. การประชุมรัฐสภาเนื่องในโอกาสการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย  การค้าและการพัฒนา ครั้งที่ ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓

ในคราวประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๗๙ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่ประชุมมีมติระงับการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทยในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นทางการของสหภาพรัฐสภาชั่วคราว เนื่องจากการปฏิรูปทางการเมืองของไทย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งส่งผลทำให้รัฐสภาไทยไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๖ ระหว่างวันที่ ๒๙ เมษายน – ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ที่กรุงเทพฯ โดยขณะนี้ สหภาพรัฐสภาให้ความสนใจในการติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูปการเมืองของไทย รัฐสภาได้ส่งคณะผู้แทนไปพบปะหารือกับคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อนสหภาพรัฐสภาจะมีมติระงับการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทย คือในคราวการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๕ ที่เจนีวา ครั้งที่ ๑๑๖ ที่บาหลี และครั้งที่ ๑๑๗ ที่เจนีวา

ต่อมา คณะมนตรีสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๘๑ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ในคราวการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๗ ที่เจนีวา ได้มีมติให้คืนสิทธิสมาชิกภาพในการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทยในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นทางการของสหภาพรัฐสภาอย่างเต็มที่โดยทันที หลังจากที่มีการประชุมรัฐสภาหลังการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยไม่ต้องรอให้มีการพิจารณาหรือเห็นชอบจาก ที่ประชุมสมัชชา หรือคณะมนตรีฯ ในสมัยหน้าอีก และรัฐสภาไทยได้รับการทาบทามอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น

หน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา

ภายใต้ข้อบังคับหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้บัญญัติให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนเป็นสมาชิกหน่วยฯ โดยประธานรัฐสภาเป็นประธาน และรองประธานรัฐสภาเป็นรองประธานหน่วยฯ โดยตำแหน่ง ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาสิ้นสุดลง หรือในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกหน่วยประจำชาติยังคงสมาชิกภาพต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกใหม่

หน่วยประจำชาติไทยฯ จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง ภายใน ๖๐ วัน นับจากวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไปแห่งรัฐสภาเพื่อ

 ๑. รับรองรายงานการบริหารของกรรมการบริหาร
 ๒. รับรองบัญชีการใช้จ่ายเงินค่าบำรุงของเหรัญญิก ภายหลังที่ได้ฟังรายงานของผู้สอบบัญชีแล้ว และ
 ๓. ดำเนินกิจการอื่นที่คณะกรรมการบริหารเสนอต่อที่ประชุม โดยที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควร หรือโดยที่สมาชิกของหน่วยไม่น้อยกว่าสิบห้าคนเข้าชื่อร้องขอ

คณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย

 เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยประจำชาติไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจำจัดตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา เป็นประธานและรองประธานหน่วยฯ โดยตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ โดยตำแหน่งและกรรมการบริหารอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นในการประชุมระหว่างประเทศ โดยได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุก ๆ สองปี และจะเลือกตั้งกันเองเป็นเลขาธิการ เหรัญญิก ผู้สอบบัญชี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นสำนักงานเลขาธิการประจำฝ่ายบริหารของหน่วยฯ โดยมีเลขาธิการหน่วยฯ เป็นผู้รับผิดชอบงานทั่วไปของหน่วยฯ

ข้อบังคับหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๑๓ ได้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของหน่วยและโดยเฉพาะในกิจการที่เกี่ยวกับ

 (๑) พิจารณาหนังสือเชิญให้ไปร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ประชุมคณะมนตรีบริหาร หรือคณะกรรมาธิการสามัญแห่งสหภาพรัฐสภา หรือการประชุมอื่น ที่สหภาพรัฐสภาจัดขึ้น
 (๒) แต่งตั้งคณะผู้แทนหน่วยไปร่วมประชุมตาม (๑) โดยสรรหาสมาชิกหน่วยที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุม หรือเรื่องที่สหภาพรัฐสภาให้ความสำคัญ
 (๓) พิจารณาจัดเตรียมร่างข้อมติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อมติเพื่อยื่นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สหภาพรัฐสภา ที่ประชุมคณะมนตรีบริหาร หรือที่ประชุมคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพรัฐสภาแล้วแต่กรณี

ในปีหนึ่งๆ คณะกรรมการบริหารจะประชุมกันกี่ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเรื่องต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา โดยประธานหน่วยฯ เป็นผู้มีอำนาจเรียกประชุม

ค่าบำรุงหน่วยประจำชาติไทย

หน่วยประจำชาติไทยต้องเสียค่าบำรุงแก่สหภาพรัฐสภาทุกปีตามอัตราที่คณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภากำหนด และการเข้าร่วมประชุมประจำปีของสมัชชาสหภาพรัฐสภาถือเป็นพันธกรณีของรัฐสภาไทย 
 

Last update: Aug 20,2009

 
 
 


สงวนลิขสิทธิ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
1111 ถ. สามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หมายเลขโทรศัพท์ 02 242 5900 ต่อ 5601
(สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 5661 (สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 7301 (สำนักภาษาต่างประเทศ ชั้น 3 )

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

วันที่เริ่มเผยแพร่ 5 กันยายน 2559