-- สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุด ณ วันที่ 6 กันยายน 2558 --
 ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด
รายงานวาระปฏิรูปที่ผ่านความเห็นชอบของ สปช.
ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ
ระบบสารสนเทศบริหารงานข้อมูลเพื่อการปฏิรูป
แผนภาพกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ศูนย์รับฟังความคิดเห็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ
สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ปฏิบัติหน้าที่ สนง.เลขาธิการสภาปฏิรูปฯ
เว็บไซต์เพื่อการสื่อสารภายใน สปช.
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อลงมติ
e-Mail@parliament.go.th
ชื่อเข้าใช้ :
รหัสผ่าน :  
 
วีดิทัศน์สภาปฏิรูปแห่งชาติ


  • ขอเชิญผู้สนใจส่งประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า    download_icon

  • สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ    download_icon

  • โครงการยกย่องเยาวชนต้นแบบเฉลิมพระเกียรติฯ    download_icon

  • กรอบการดำเนินงานสปช.    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
สภาปฏิรูปแห่งชาติ
เกี่ยวกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ


[ องค์ประกอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ ที่มาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ คุณสมบัติของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ สมาชิกสภาปฏฺิรูปแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ]  [ การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ องค์ประชุม ]  [ การตราข้อบังคับการประชุม ]  [ หน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ]  [ กรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ]  [ เอกสิทธิ์ ]  [ เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ]


องค์ประกอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          สภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน ๒๕๐ คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๑ คน และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่เกิน ๒ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ที่มาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ สรุปได้ดังนี้

          (๑) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ด้านละ ๑ คณะ และให้มีคณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัด แต่ละจังหวัดเพื่อสรรหาจากบุคคลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดนั้น ๆ

          (๒) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆ

          (๓) ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในแต่ละด้านแล้วจัดทําบัญชีรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการนี้ คณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อตนเองมิได้

          (๔) การสรรหาบุคคลตาม (๓) ให้คํานึงถึงความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ การกระจายตามจังหวัด โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส

          (๕) คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวนไม่เกิน ๕๐ คน แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรายชื่อที่ได้รับในด้านนั้น ๆ ไปให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

          ส่วนคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวนไม่เกิน ๕ คน ไปให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

          (๖) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลที่เห็นสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาตาม (๑) เสนอได้ไม่เกิน ๒๕๐ คน โดยในจำนวนนี้ให้คัดเลือกจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละ ๑ คน จำนวน ๗๗ คน นอกจากนั้นให้พิจารณาคัดเลือกจากที่คณะกรรมการสรรหาด้านต่าง ๆ จำนวน ๑๑ ด้าน จำนวนไม่เกิน ๑๗๓ คน

คุณสมบัติของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี ทั้งนี้ ไม่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา ๓ ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

          ๑. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

          ๒. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

          ๓. เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

          ๔. เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

          ๕. เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

          ๖. อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนจากตําแหน่ง

          ๗. เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก

          ๘. เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ   

          ๙. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือรัฐมนตรีในขณะเดียวกันมิได้

การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          ๑. ตาย

          ๒. ลาออก

          ๓. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม  

          ๔. สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ

          ๕. ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม

          ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัย  

องค์ประชุม

          การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

การตราข้อบังคับการประชุม

            สภาปฏิรูปแห่งชาติมีอํานาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่

หน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

          (๑) การเมือง

          (๒) การบริหารราชการแผ่นดิน

          (๓) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

          (๔) การปกครองท้องถิ่น

          (๕) การศึกษา

          (๖) เศรษฐกิจ

          (๗) พลังงาน

          (๘) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

          (๙) สื่อสารมวลชน

          (๑๐) สังคม

          (๑๑) อื่น ๆ

          การปฏิรูปด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          ๑. เสนอรายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นครั้งแรก

          ๒. ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๓๖ คน ประกอบด้วย

                    ๒.๑ ประธานคณะกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ จำนวน ๑ คน

                    ๒.๒ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอจำนวน ๒๐ คน

                    ๒.๓ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอจำนวน  ๕ คน

                    ๒.๔ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอจำนวน  ๕ คน

                    ๒.๕ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอจำนวน  ๕  คน 

                    ทั้งนี้  ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน  ๑๕ วันนับแต่เรียกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก

          ๓. เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก    

          ๔. ศึกษา วิเคราะห์และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.)  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

            ในการดําเนินการข้างต้น หากเห็นว่ากรณีใดจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติจัดทําร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป แต่กรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้จัดทําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

          ๕. พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น

                    ๕.๑ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจัดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมกันเพื่อพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

                    ๕.๒ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้นการพิจารณา คำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ของจำนวนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ยื่นคําขอหรือที่ให้คำรับรอง คำขอของสมาชิกอื่นแล้ว จะยื่นคำขอหรือรับรองคำขอของสมาชิกอื่นอีกมิได้

                    ๕.๓ เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีมติภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความของร่างรัฐธรรมนูญนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น หรือเป็นกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น

          ๖. พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

กรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

          ๑. เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติ

          ๒. เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้  โดยให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

          กรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ  จะมีผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง

          กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นกําหนด ๙๐ วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป                

          เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป จะมีผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้มีการดำเนินการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีบทบัญญัติห้ามประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณีชุดใหม่

เอกสิทธิ์

          ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคําใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนจะนําไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้

          เอกสิทธิ์ให้คุ้มครองถึงกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณารายงานการประชุมตามคำสั่งของสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือคณะกรรมาธิการ บุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตลอดจนผู้ดําเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดที่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย แต่ไม่คุ้มครองสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้กล่าวถ้อยคําในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคําที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณสภาปฏิรูปแห่งชาติ และถ้อยคํานั้นมีลักษณะเป็นความผิดอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          กรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติถูกควบคุมหรือขัง ให้สั่งปล่อยเมื่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติร้องขอ หรือในกรณีถูกฟ้องในคดีอาญา ให้ศาลพิจารณาคดีต่อไปได้ เว้นแต่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติร้องขอให้งดการพิจารณาคดี

เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

          เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานสภาและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

 

สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร Call Center 1743 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทร 0 2244 1000 e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์
(เริ่มนับ 2 ต.ค. 57)