ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทั้งจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงขับเคลื่อนกิจกรรมในภาคบริการและรายรับจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว 5 แสนล้านบาทจากปีก่อน ในส่วนปัจจัยสนับสนุนของการขยายตัวเศรษฐกิจภาพรวม มีดังนี้
- การอุปโภคบริโภคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
- การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากอุตสาหกรรมยานยนต์และการก่อสร้าง
- ผลผลิตในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับลดลง ตามการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้า รวมถึงแรงกดดันจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
- เสถียรภาพเงินสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ด้านราคาของภาคการส่งออก
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐ
- อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำโดยอยู่ที่ร้อยละ 0.9
- หนี้สินครัวเรือนปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ
- อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ได้ปรับลดลงจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ซึ่งจะเป็นผลดีในการลดต้นทุนทางการเงิน บรรเทาภาระหนี้ และส่งเสริมการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ
- สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคทั้งรายได้และรายจ่ายลดลงสะท้อนถึงความเท่าเทียมที่ดีขึ้นของด้านรายได้และรายจ่ายของประชาชน
- ความสามารถในการแข่งขัน (IMD) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นจากอันดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25 ในปี 2567 ซึ่งประเมินจากปัจจัยหลักเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ในส่วนแนวโน้มทางการคลัง ได้นำเสนอเนื้อหาประกอบด้วย 3 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
- การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสัดส่วนรายได้ต่อ GDP มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน สะท้อนถึงการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
- ฐานะทางการคลังตามระบบกระแสเงินสดของรัฐบาล โดยรัฐบาลได้รักษาเสถียรภาพเงินคงคลังปลายปีในระดับที่มากกว่า 500,000 ล้านบาทในแต่ละปีงบประมาณ อย่างไรก็ตาม พบว่าฐานะทางการคลังฯ มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ทุกปีอย่างต่อเนื่อง ดุลเงินนอกงบประมาณมีความผันผวนสูง และการพึ่งพาการกู้เงินที่สูงในแต่ละปีงบประมาณเพื่อรักษาฐานะทางการคลังฯ
- หนี้สาธารณะ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานะเดือนมกราคม 2568 มีปริมาณหนี้สาธารณะ 11.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.13 ของ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 ของ GDP
คณะผู้จัดทำได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจการคลังที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป มีดังนี้
- สถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
- นโยบาย Trump 2.0 ต่อเศรษฐกิจโลก
- สถานการณ์ภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- เศรษฐกิจการค้าไทย – จีน
- สถานการณ์ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย
- แนวโน้มธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์
- แนวโน้มการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ