สส.พรรคประชาชน ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างหลาย ๆ โครงการของรัฐให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าได้มาตรฐาน หวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์ตึก สตง.

Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
วันพุธที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา สส. พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ แถลงข่าว ประเด็นนอมินีต่างชาติเชื่อมโยงกับการสร้างโครงการหลายโครงการของภาครัฐ โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคประชาชน ยกตัวอย่างโครงการอาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A1) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น จำนวน 635 หน่วย และอื่น ๆ ผู้รับจ้างคือ กิจการร่วมค้า เอ จี ซี 10 คอนสตรัคชั่น ระหว่าง บริษัท อัครดวงแก้ว เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท กรีนไทย คอนสตรัคชั่น จำกัด  และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผู้ว่าการเคหะแห่งชาติออกมาตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า การก่อสร้างโครงการแฟลตดินแดงหรือโครงการอาคารฟื้นฟูเมืองดินแดงบริษัทก่อสร้างไม่เป็นบริษัทจากจีน แต่ในเอกสารสัญญาจ้างงานเห็นชัดเจนว่าในส่วนของผู้รับจ้างเป็นกิจการร่วมค้าที่มีบริษัทจีนที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้รวมอยู่ด้วย และโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่มีปัญหา ซึ่งจากการติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่าปัจจุบันนี้อาจจะเปลี่ยนผู้รับเหมามาเป็นผู้รับเหมาของไทย หรือผู้รับเหมาบริษัทอื่นแล้ว แต่การเริ่มต้นก่อสร้างซึ่งมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทิ้งงาน การไม่จ่ายค่าจ้าง รวมไปถึงคุณภาพ นั่นหมายความว่าหากเริ่มต้นโดยบริษัทโครงสร้างพื้นฐานอาจไม่ได้ตามมาตรฐาน งานโครงสร้างทั้งหมดที่ผ่านไปแล้ว จะสามารถรับรองคุณภาพและจะสามารถเข้าไปตรวจสอบคุณภาพได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเป็นสัญญาณที่ไม่ชอบมาพากล เพราะบริษัทจีนที่เข้ามารับงานในโครงการของรัฐในหลาย ๆ แห่ง รับงานแล้วอาจจะไปไม่ถึงวันส่งมอบงาน แล้วทิ้งงานให้บริษัทไทยมารับช่วงต่อ สุดท้ายบริษัทไทยไปต่อไม่ได้ก็เกิดภาวะทิ้งงาน สุดท้ายคนที่รับผลกระทบโดยตรงก็คือพี่น้องประชาชนที่ต้องเข้าไปอยู่อาศัยในโครงการ นอกจากโครงการใน กทม. แล้วยังมีโครงการที่ จ. ภูเก็ต ที่ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส. จ.ภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือไปถึงคณะ กมธ.การสวัสดิการสังคม และตนในฐานะประธานฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ คือโครงการเคหะชุมชนป่าครองชีพ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นทาวน์โฮม จำนวน 354 ห้อง มูลค่า 343 ล้านบาท เป็นโครงการที่บริษัทจากประเทศจีนเข้ามาก่อสร้างหมู่บ้านขายให้กับคนไทย เมื่อเข้าไปตรวจสอบพบว่าตู้ไฟไม่ได้คุณภาพ สายไฟนำเข้ามาประเทศจีนไม่มีเครื่องหมายประกาศมาตรฐาน ได้รับการร้องเรียนว่าภายหลังการส่งมอบภายในสามเดือน มีปัญหามากมายทั้งระบบไฟฟ้าและประปาซึ่งมองเห็นปัญหา แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือโครงสร้างพื้นฐานที่พี่น้องประชาชนมองไม่เห็น ต้องรอวันเกิดเหตุก่อน จึงต้องการเรียกร้องให้ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ รับประกันและเปิดเผยข้อมูลว่าที่ผ่านมาโครงการทั้งหมดของการเคหะแห่งชาติได้จ้างบริษัทจีนดำเนินการก่อสร้างกี่แห่ง และคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ มีมาตรฐานหรือไม่
 
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี  สส. จ.ภูเก็ต กล่าวว่า วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าบริษัทสัญชาติจีน ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้รับงานสร้างตึก สตง. ที่ถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีปัญหาความไม่ชอบมากล ทั้งเรื่องการใช้นอมินี การไม่ดำเนินการตามมาตรฐานการก่อสร้างและกฎหมายของประเทศ ซึ่งเรื่องนอมินีต่างชาติตนพูดมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ จ. ภูเก็ต ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว ปัจจุบันภูเก็ต เปรียบเสมือนแหล่งของกลุ่มทุนต่างชาติที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน คือ ตึก สตง. ถล่ม ทำให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีความสงสัยในคุณภาพการก่อสร้างตึก สตง. ในขณะเดียวตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า ในจังหวัดภูเก็ตเองก็มีโครงการก่อสร้างของบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ เช่นกัน คือโครงการรก่อสร้างอาคารศูนย์บริการลูกค้า และอาคารอบรมสัมมนาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่า 210 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า AKC ระหว่าง บริษัท อัครกร ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สัญญาเลขที่ จ.ป.10/2564 ลงวันที่ 25 มกราคม 2564 กำหนดระยะเวลาเสร็จใน 450 วัน เริ่มต้นสัญญา 18 กุมภาพันธ์ 2564 ครบกำหนดสัญญา 13 พฤษภาคม 2565 ควบคุมการก่อสร้างโดย กองจัดจ้างและก่อสร้างงานโยธา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าโครงสร้างมีรอยร้าว และมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ค้างจ่ายค่าแรงและจ้างเหมาช่วงแรงงานในปี 2565 จนเป็นคดีความที่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีการค้างจ่ายจริง และให้นายจ้างชำระค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แรงงานข้ามชาติให้เรียบร้อย ซึ่งโครงการนี้จะมีปัญหาโครงสร้างตึกเหมือนกับตึก สตง. หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไป อย่างน้อยสิ่งที่เราทราบแล้วคือโครงการนี้มีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ  เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนก่อสร้าง ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลนี้จะนำไปสู่การตรวจสอบโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งโครงการอื่น ๆ ที่บริษัทไซน่า เรลเวย์ฯ  เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในอนาคตอย่างละเอียดต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง และการใช้งบประมาณของรัฐ
 
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล  กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาจากการติดตามข่าวจะทราบว่าที่ จ.ภูเก็ตเองมีการจับกุมแรงงานคนจีนเป็นระยะ ๆ ไม่แน่ใจว่ามาจากบริษัท ไชน่า แรลเวย์ฯ หรือไม่ ในส่วนของการเคหะฯ ที่หมู่บ้านกรีนวิลล์ป่าคลองชีพ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ก่อสร้างโดยบริษัทกิจการร่วมค้าบริษัทจากจีนเช่นกัน จากการตรวจสอบเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่าบริษัทดังกล่าวใช้กิจการร่วมค้าในการประมูลงานจากภาครัฐ เมื่อทำการเสร็จแล้วจะเปลี่ยนชื่อบริษัทไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ ขึงขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเร่งตรวจสอบกระบวนการดังกล่าว ซึ่งขบวนการนี้ลุกลามไปทั่วประเทศไทยแล้ว
 
ด้านนายวีรนันท์ ฮวดศรี สส. จ. ขอนแก่น กล่าวเสริมว่าเป็นที่ตั้งข้อสังเกตกรณีบริษัท ไชน่า แรลเวย์ฯ ที่มีโครงการกับรัฐ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงตั้งข้อสังเกตขอให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสองช่วง บริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานจากรัฐหรือกระทรวงคมนาคมกี่ช่วงกี่ตอนหรือรับทั้งหมด เพราะมีข่าวออกมาว่าบริษัทนี้เป็นคู่สัมปทานกับภาครัฐ จึงขอให้ทางรัฐออกมาเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ เพราะหากเป็นจริงก็เป็นเรื่องใหญ่มาก สังคมกำลังตั้งคำถามว่ามาตรฐานของการรับคู่สัญญากับภาครัฐ อุปกรณ์ที่ใช้ ทีโออาร์กำหนดขึ้นได้มาตรฐานหรือไม่ เพราะนี้คือรถไฟทั้งสายจากกรุงเทพถึงหนองคาย บางช่วงมีการยกระดับ บางช่วงไม่ได้ยกระดับ จะมีมาตรการความปลอดภัยเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและเงินภาษีที่ต้องจ่ายไปกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงอย่างไร
 
นายณัฐชา กล่าวปิดท้ายว่า เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนต่างส่งเสียงสะท้อนผ่าน สส. ในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อกังวลอย่างยิ่งว่าบริษัทที่อาจจะไม่มีมาตรฐาน หรือมีมาตรฐานไม่เพียงพอแต่ได้รับงานของรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจคล้ายกัน คือไม่มีแรงงานของตนเองแต่เป็นการจ้างเหมาช่วงและจ้างเหมารายวัน สุดท้ายก็มีปัญหาในทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็น การไม่จ่ายค่าแรง อุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพ สั่งผลิตอุปกรณ์มาเฉพาะโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นงบประมาณของภาครัฐจำนวนมาก จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดติดตามเปิดเผยความจริงให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบต่อไป