ทั่วประเทศจีน : หุ่นยนต์กรีดยางขับเคลื่อนด้วย AI ออกแบบมาเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน
หมวด สังคม
หัวข้อข่าวประจำวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๘


ไหโข่ว ๒๔ มีนาคม (สำนักข่าวซินหัว) - เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางธรรมชาติ จีนได้เปิดตัวหุ่นยนต์กรีดยางเคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญด้านระบบอัตโนมัติทางการเกษตร
 
หุ่นยนต์นำทางอัตโนมัติที่ร่วมกันพัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CATAS) และบริษัทเทคโนโลยี Automative Walking Technology ซึ่งมีฐานการผลิตตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เตรียมนำไปทดลองใช้ในสวนยางพาราในมณฑล      ไห่หนานทางตอนใต้ของจีนในช่วงฤดูกรีดยางที่จะถึงในเดือนเมษายนนี้
 
ในวิดีโอสาธิต จะเห็นหุ่นยนต์กำลังเข้าใกล้ต้นยางก่อนจะหยุดตรงจุดอย่างแม่นยำแล้วยืดแขนกลออกไปกรีดอย่างแม่นยำบนลำต้นยางพารา  ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากการกรีดยาง วิดีโอเผยให้เห็นน้ำยางสีขาวขุ่นไหลออกมาอย่างต่อเนื่องจากรอยกรีดของหุ่นยนต์
 
ภาคส่วนยางธรรมชาติของจีน ที่มีความสำคัญต่อการผลิตยางรถยนต์และเป็นแหล่งวัสดุทางอุตสาหกรรม กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากสภาพการทำงานที่ลำบาก การทำงานกะกลางคืน และมีโอกาสเกิดโรคจากการประกอบอาชีพบ่อยครั้ง
 
นายเชา เจี้ยนหัว รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง CATAS กล่าวว่า “หุ่นยนต์กรีดยางได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการลาออกของแรงงานกรีดยาง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรม” หุ่นยนต์ดังกล่าวติดตั้งแขนกลอิสระหลายระดับและมีการเคลื่อนที่แบบตีนตะขาบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศที่ซับซ้อนและกรีดยางได้อย่างแม่นยำ
 
ระบบนำทางผสมผสานเรดาร์เลเซอร์และอัลกอริธึมการผสานรวมเซ็นเซอร์หลายตัว ทำให้สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างแม่นยำในสวนยางพาราที่รกทึบ นอกจากนี้ เทคโนโลยีภาพยังช่วยกำหนดความลึกของเปลือกไม้และมุมกรีดที่มีประสิทธิภาพคิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของการ กรีดยางด้วยมือคน โดยให้คุณภาพน้ำยางที่เท่ากัน
 
หุ่นยนต์กรีดยางสามารถกรีดยางได้ ๑๐๐ - ๑๒๐ ต้นต่อชั่วโมง โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งทำให้ทำงานได้ต่อเนื่องนานกว่า      ๘ ชั่วโมง ด้วยความสามารถอันโดดเด่นในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้อย่างรวดเร็วภายใน ๒๐ วินาที ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการทำงานจะไม่หยุดชะงักในสวนยางขนาดใหญ่
 
นายซัน เหยา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Automotive Walking Technology กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า เมื่ออยู่ในขั้นตอนการผลิตจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์กรีดยางจะลดลงต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ หยวน (๑๓,๘๒๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ) และสำหรับสวนยางขนาด ๕๐ หมู่[1] (๓.๓๓ เฮกตาร์) การใช้หุ่นยนต์กรีดยางจะช่วยให้คืนทุนได้ภายในประมาณ ๑๘ เดือน
 
นายเชา กล่าวว่า “เราได้หารือกับบริษัทยางรถยนต์ข้ามชาติหลายแห่งและผู้ปลูกยางพาราทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอินโดนีเซีย และไทย และพวกเขาแสดงความสนใจอย่างมากในผลิตภัณฑ์ของเรา”
 
ทีมงานของนายเชากำลังปรับแต่งเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ในไม่ช้าผู้ใช้จะสามารถตรวจสอบการทำงานของหุ่นยนต์ได้โดยตรงจากสมาร์ทโฟนของพวกเขา เห็นภาพที่ชัดเจนของสถานะของสวนยาง และใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น สำหรับการจัดการแบบอัตโนมัติได้อย่างเต็มที่
 
[1] หมู่ (mu) คือ หน่วยวัดพื้นที่ของจีน
 
 ที่มา:
 
https://english.news.cn/20250324/3af5a550509b4fd483d60db9e4425c05/c.html
 
ผู้แปล นางสาวศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน นายกิตติ เสรีประยูร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ตรวจ นางบุณฑริกา ชุนหะนานนท์
ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
 


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย