ประเทศ สิงคโปร์
ข่าวประจำวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๗
หมวด สังคม (กฎหมาย)
เมื่อวันอังคารที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๗ รัฐสภาสิงคโปร์ลงมติผ่านกฎหมายฉบับใหม่ ที่อนุญาตให้ทางการมุ่งเป้าไปที่คน ๓ กลุ่มที่ใช้ซิมการ์ดท้องถิ่นในทางที่ผิดด้วยการก่อให้เกิดการต้มตุ๋นผู้อื่น
บุคคลทั้งสามกลุ่มที่ถูกระบุไว้ในร่างรัฐบัญญัติการบังคับใช้กฎหมายและเรื่องอื่น ๆ คือ “สมาชิกคู่ค้าที่ไร้ความรับผิดชอบ” ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางที่ล่อลวงหรือจัดหาซิมการ์ดให้แก่นักต้มตุ๋นและผู้ค้าปลีกที่หลงเชื่อที่ใช้ข้อมูลประจำตัวที่ถูกขโมยหรือเป็นเท็จในการลงทะเบียนซิมการ์ดซึ่งขายให้กับนักต้มตุ๋น
นางโจเซฟีน เตียว รัฐมนตรีคนที่สองกระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์กล่าวว่า ตำรวจเผชิญความยากลำบากในการดำเนินคดีกับบุคคล ๒ กลุ่มแรก เนื่องจากจำเป็นต้องพิสูจน์ความตระหนักรู้หรือเจตนาในการก่ออาชญากรรม แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้บุคคลต้องรับผิดในบางสถานการณ์ โดยที่ฝ่ายโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ทราบ
เธอกล่าวว่า เจตนารมย์ของกฎหมายนี้ไม่ใช่เพื่อลงโทษผู้ที่ให้ซิมการ์ดเพื่อวัตถุประสงค์ที่
ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างถึงตัวอย่างของผู้ลงทะเบียนซิมการ์ดในชื่อของตนเพื่อการใช้งานของสมาชิกในครอบครัว
นางเตียว ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศด้วย กล่าวว่า ดังนั้น ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องนี้
ผู้กระทำความผิดสามกลุ่ม
สมาชิกคู่ค้าหรือผู้ลงทะเบียนที่ไม่รับผิดชอบ คือ ผู้ที่แจกซิมการ์ดของตนหรือให้ผู้อื่นใช้ข้อมูลเฉพาะของตนในการสมัครซิมการ์ด
“บ่อยครั้งที่พวกเขาทำเช่นนั้นเพื่อรวยทางลัด” นางเตียวกล่าว
กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ตำรวจต้องพิสูจน์ทราบว่า สมาชิกคู่ค้าที่ไร้ความรับผิดชอบจงใจมอบซิมการ์ดของตนเพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามกฎหมายใหม่ บุคคลจะต้องรับผิดชอบหากมอบซิมการ์ดที่ลงทะเบียนไว้พร้อมกับรายละเอียดของตนหรือยินยอมให้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการสมัคร แม้จะรู้หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าซิมการ์ดนั้น จะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย
สมาชิกคู่ค้าจะต้องรับผิดหากพวกเขามอบซิมการ์ดเพื่อรับผลประโยชน์ใด ๆ โดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมในการค้นหาตัวตนและที่ตั้งของผู้รับซิม หรือไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อสืบหาสาเหตุที่ผู้รับต้องการซิมการ์ดท้องถิ่น
ผู้กระทำผิดอาจถูกปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือ ๒๗๑,๐๖๘.๘๗ บาท–อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗) และถูกจำคุกสูงสุด ๓ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
กลุ่มที่สองที่เป็นเป้าหมายของกฎหมายใหม่ คือ พ่อค้าคนกลางที่ได้รับหรือครอบครองซิมการ์ดในประเทศ โดยมีเจตนาจะใช้หรือจัดหาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย
ผู้ที่จัดหาซิมการ์ดโดยรู้หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย จะต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้นด้วย
อัยการไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ทราบหรือสืบหาเจตนาทางอาญาหากซิมการ์ดท้องถิ่นถูกใช้ในอาชญากรรม หรือหากพบซิมการ์ดท้องถิ่น ๑๑ ใบขึ้นไป อยู่ในความครอบครองของพ่อค้าคนกลาง
พวกเขาเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เจตนาในทางอาญาต่อผู้ที่ซื้อ ขาย หรือเช่าซิมการ์ดท้องถิ่นที่ลงทะเบียนด้วยรายละเอียดส่วนตัวของบุคคลอื่น
กลุ่มที่สามคือผู้ค้าปลีกที่หลงผิด
ผู้ให้บริการในธุรกิจมือถือจะต้องใช้มาตรการป้องกันการฉ้อโกงจากการลงทะเบียนซิมการ์ด มาตรการเหล่านี้รวมถึงการตรวจสอบตัวตนของสมาชิกโดยการตรวจสอบ ID เดิม และการสแกน ID แทนการกรอกรายละเอียดของสมาชิกด้วยตนเอง
ผู้ค้าปลีกหลายรายใช้ข้อมูลประจำตัวที่ถูกขโมยมาหรือข้อมูลอันเป็นเท็จในการลงทะเบียนซิมการ์ด จากนั้นจึงขายให้กับกลุ่มนักต้มตุ๋น
จากการศึกษาในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว พบว่าซิมการ์ดท้องถิ่นประมาณ ๑,๔๐๐ ชิ้น ที่ใช้ในการหลอกลวง พบว่า ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ของซิมการ์ดดังกล่าวจำหน่ายโดยผู้ค้าปลีก ๙ ราย
“ผู้ค้าปลีกที่กระทำผิดดังกล่าวควรต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่จะทำให้ชื่อเสียงของคู่แข่งเสื่อมเสียเท่านั้น แต่การกระทำของพวกเขายังทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากได้รับความสูญเสีย” นางเตียว กล่าว
ผู้กระทำผิดที่ได้รับ จัดหา และครอบครองซิมการ์ดท้องถิ่น หรืออำนวยความสะดวกในการฉ้อโกงการลงทะเบียนซิมการ์ดท้องถิ่น อาจถูกปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือจำคุกสูงสุดสามปี หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดครั้งแรก
สำหรับความผิดครั้งที่สองหรือครั้งต่อไป โทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เหรียญสิงคโปร์ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
บริษัทและสมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน เช่น ห้างหุ้นส่วนและสมาคม อาจถูกปรับสูงสุดสองเท่าของจำนวนเงินสูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดา
คำถามจากสมาชิกรัฐสภา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (MP) Desmond Choo (PAP-แทมปิเนส) ถามว่ากระทรวงมหาดไทยทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Telegram ที่ใช้ซื้อและขายซิมการ์ดในท้องถิ่นหรือไม่
นางเตียวตอบว่า ตำรวจกำลังทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อลบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพและอาชญากรรมอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การซื้อหรือขายซิมการ์ดมือสองในปัจจุบันไม่ใช่อาชญากรรม ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเชิงกฎหมายที่จะขอให้แพลตฟอร์มดังกล่าวลบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการขายซิมการ์ด
“เมื่อความผิดใหม่มีผลบังคับใช้ และการขายซิมการ์ดมือสองในท้องถิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เราจะพิจารณาออกแนวทางภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยภัยอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ทางออนไลน์ เพื่อกำหนดให้พวกเขาจำกัดการเข้าถึงบัญชีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง” เธอกล่าว
ยิบ ฮอน เหวิ่ง (PAP-Yio Chu Kang) สมาชิกรัฐสภา แสดงความกังวลเกี่ยวกับฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นจากสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลใช้ข้อมูลของผู้สูงอายุในทางที่ผิด
นางเตียว กล่าวว่า ผู้สูงอายุจะไม่ต้องรับผิดหากตำรวจพบว่าตนไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการลงทะเบียนรับซิมการ์ด
“ตำรวจตระหนักดีว่ามีหลายสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุอาจถูกหลอกให้บอกเล่ารายละเอียดของตน” เธอกล่าว
“ตำรวจจะสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างครอบคลุม และพิจารณาหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าผู้สูงอายุรายดังกล่าวไม่ทราบว่าข้อมูลของเขาจะถูกนำไปใช้อย่างไร”
สัญลักษณ์ริบบิ้นสีเหลืองที่ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ รัฐมนตรียังกล่าวถึงการที่สัญลักษณ์ของ Yellow Ribbon Singapore ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ใช้ในการกระตุ้นสังคม เพื่อสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมของอดีตผู้กระทำผิด ได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยบุคคลที่ขายสินค้าหรือไปขอรับบริจาคตามบ้านเรือนโดยแสร้งเป็นผู้สนับสนุนอดีตผู้กระทำความผิด
ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ รัฐบัญญัติ ว่าด้วย องค์การแก้ไขและฟื้นฟูร่วมแห่งสิงคโปร์ (Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises Act) จะได้รับการแก้ไขเพื่อให้ Yellow Ribbon Singapore มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว
ผู้ที่ใช้สัญลักษณ์ในทางที่ผิดอาจมีโทษปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือมีโทษจำคุกสูงสุด ๖ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่มีการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ผู้กระทำความผิดอาจถูกปรับสูงสุดถึง ๒๕๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยคำนวณจากความผิดรายวันหรือคิดเพียงบางส่วนของวัน ในระหว่างที่การกระทำผิดดำเนินต่อไปหลังจากการพิพากษาลงโทษ
ที่มาของข่าว : h
ttps://www.channelnewsasia.com/singapore/scams-sim-cards-new-law-passed-parliament-police-4236946#:~:text=With%20the%20new%20law%2C%20a,be%20 used%20 for%20unlawful%20purposes.
ผู้แปล นางอุมาพร เพ็ชรเลิศจำรัส นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน นายกิตติ เสรีประยูร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
นางศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
ผู้ตรวจ นางสาวกฤษณี มาศรีจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร