โฆษกคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน แถลงข่าวขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์นมโรงเรียน
6 กุมภาพันธ์ 2568
วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ โฆษกคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นางพัชรี วัฒนวิชัยกุล ตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน และคณะ แถลงข่าวขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์นมโรงเรียน เนื่องด้วยผู้ประกอบการภาคเอกชนในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์นมโรงเรียน 4 ประเด็น ดังนี้
1. หลักเกณฑ์ที่ออกในปี 2567 - 2568 ให้สหกรณ์ได้สิทธินมโรงเรียนร้อยละ 50 ของโควตานมโรงเรียนทั้งหมด และภาคเอกชนได้ร้อยละ 50 เช่นกันนั้น หลักเกณฑ์นี้ออกโดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งสหกรณ์บางกลุ่มไม่สามารถรับโควตาได้ทั้งหมด เนื่องจากมีนมดิบน้อยกว่าร้อยละ 50 ของโควตา จึงทำให้ต้องนำสหกรณ์จากเขตอื่นขึ้นมารับสิทธิที่ภาคอีสาน เช่น สหกรณ์หนองโพ สหกรณ์กำแพงแสน สหกรณ์พัทลุง และสหกรณ์ชะอำ ห้วยทราย เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมที่ไม่ใช่สหกรณ์ได้ร้อยละ 50 เขต 3 และเขต 2 ที่อยู่ภาคอีสานก็ได้รับการจัดสรรสิทธิ์ขายนมตามเขตที่มีอยู่ในพื้นที่ได้ตามปกติ เหตุการณ์นี้ทำให้สหกรณ์บางสหกรณ์ เมื่อได้รับสิทธิ์แล้วไม่สามารถผลิตนมเองได้ตามสิทธิ์ที่ได้รับ เช่น สหกรณ์ไทยมิลค์ และสหกรณ์มวกเหล็ก ได้นำสิทธิ์ที่ได้รับการจัดสรรแล้วไปสละสิทธิ์ให้บริษัทเอกชนที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการสละสิทธิ์เจาะจง โดยหลักเกณฑ์เดิมไม่สามารถทำได้ เพราะต้องสละสิทธิ์ลงส่วนกลางเพื่อให้คณะกรรมการเขตนั้นจัดสรรให้หลายโรงงาน เพื่อความเป็นธรรม จึงเห็นว่า หลักเกณฑ์ในครั้งนี้ คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จงใจและมีเจตนาเอื้อผลประโยชน์ให้กับสหกรณ์และพวกพ้องที่ออกหลักเกณฑ์นี้มาเพื่อทำลายภาคเอกชนจนไม่สามารถอยู่ในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนได้ และหลายโรงงานที่ผลิตนมโครงการนมโรงเรียน ไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ยกเลิกหลักเกณฑ์นี้ และนำหลักเกณฑ์เดิมมาใช้จัดสรรสิทธิ์
2. การจัดสรรสิทธิ์นมโรงเรียนได้นำองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มารวมอยู่กับภาคเอกชน จึงไม่ถูกต้อง เพราะ อ.ส.ค ไม่ใช่ภาคเอกชนแต่เป็นภาครัฐ
3. ขอให้คุ้มครองโรงงานขนาดเล็กที่ผลิตไม่เกิน 5 ตัน หากโรงงานใดที่สมัครนมโรงเรียนไม่เกิน 5 ตัน ให้จัดสิทธิ์เพื่อป้องกันไม่ให้โรงงานขนาดเล็กต้องซื้อนมดิบเกินสิทธิ์ที่ได้รับการจัดสรร และศูนย์รับนมจะได้นำนมส่วนที่มีอยู่ไปขายตาม MOU ทั้งหมด เพื่อป้องกันนมล้น ซึ่งปัจจุบันทุกโรงงานซื้อนมไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อจัดสรรสิทธิ์ได้น้อยก็จะมีนมเหลือและต้องหาที่ขายเพื่อไม่ให้ขาดทุน ประกอบกับปีนี้ FTA หมดภาระผูกพันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 อาจมีการนำเข้านมผงมากขึ้นกว่าปกติ จึงขอให้มีการคุ้มครองโรงงานขนาดเล็ก เพื่อจะได้แก้ไขปัญหานมดิบของเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง
4. หลักเกณฑ์โรงงานนมทุกแห่งต้องมีศูนย์นมเป็นของตนเอง มีนมไม่น้อยกว่า 3 ตัน หรือมีวัวไม่ต่ำกว่า 200 ตัว นั้น เป็นการกีดกันโรงงานขนาดเล็กที่ไม่มีศูนย์นมเป็นของตนเองส่งผลให้หลายโรงงานไม่สามารถเข้าร่วมโครงการในปี 2567 - 2568 ได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับโรงงานขนาดเล็กให้สามารถอยู่ในระบบโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนต่อไปได้
ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการภาคเอกชนเห็นว่า หลักเกณฑ์นมโรงเรียนปี 2567 เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพี่น้องชาวสหกรณ์โคนมทั่วประเทศซึ่งมีประเด็นปัญหาที่หลากหลาย โดยเมื่อเช้าวันนี้ ได้นำคณะผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ายื่นหนังสือต่อ นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะได้มีพิจารณาในที่ประชุมคณะ กมธ. ทั้งนี้ จะได้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาในโอกาสต่อไป